สพฉ.จัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติชูประเด็นลดช่องว่างระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย

นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) กล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้จัดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 8 ภายใต้หัวข้อ"รวมพลังลดช่องว่างการแพทย์ฉุกเฉินไทย" (Together to fill Thai EMS Gaps) ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะมีการจัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประสบการณ์การทำงาน ความรู้ทางวิชาการ การแสดงนวัตกรรมใหม่ ๆ และการเปิดเวทีให้ทุกคนมีโอกาสร่วมแสดงข้อคิดเห็น แลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งถือเป็นกรอบแนวคิดของกระบวนที่จะใช้ขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยให้สมบูรณ์ด้วยการรวมพลังจากทุกภาคภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งนี้หากมองย้อนกลับไปนับตั้งแต่ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 เมื่อเดือนมีนาคม 2551 เป็นต้นมา นับเป็นเวลาที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ดำเนินงานตามนโยบายด้วยความมุ่งมั่น พัฒนางานการแพทย์ฉุกเฉินไทย ให้มีความทั่วถึง เท่าเทียม และได้มาตรฐาน ครอบคลุมเพิ่มขึ้นทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศยาน โดยระบบปฏิบัติการดังกล่าว มีผลการออกปฏิบัติการเพื่อให้การช่วยเหลือแก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่าปีละหนึ่งล้านสองแสนครั้ง

อย่างไรก็ตามการที่เราจะทำการลดช่องว่างในระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้นั้นบทบาทและหน้าที่ของแต่ละองค์กรที่อยู่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะต้องมีความชัดเจน ซึ่งการดำเนินงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินนั้นจะต้องสอดคล้องกับดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาตินั้นจะมีบทบาทและหน้าที่อย่างชัดเจนที่จะเป็นทั้งหน่วยงานที่ออกกฎระเบียบ และเป็นหน่วยงานที่จะต้องสนับสนุนทุกภาคส่วนในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งในส่วนของผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินนั้นจะต้องมีการกระจายลงสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการดำเนินงานในแต่ละท้องถิ่นนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละท้องที่ที่จะบริหารจัดการกันเอง แต่ทั้งหมดต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะคอยช่วยเหลือและเป็นพี่เลี้ยง และมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จะคอยสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณ ซึ่งตนหวังว่าเมื่อเรามีการกำหนดบทบาทหน้าที่การทำงานกันอย่างชัดเจนแล้วก็จะทำให้เราได้เห็นการดำเนินงานในวันต่อไปข้างหน้าได้อย่างชัดเจนขึ้น

นอกจากนี้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย ยังต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อเสริมสร้างพลังการขับเคลื่อน และลดช่องว่างการแพทย์ฉุกเฉินไทย ให้ก้าวไกลสู่ความเป็นสากล โดยมุ่งเน้นนโยบายดังนี้ 1.มีระบบปฏิบัติการฉุกเฉินครอบคลุมทุกพื้นที่ 2. มีระบบการรับแจ้งเหตุและสื่อสารสั่งการออกปฏิบัติงานที่คล่องแคล่ว ทันท่วงที 3.มีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินพร้อมรับสาธารณภัย ตลอด 24 ชั่วโมง 4.มีการพัฒนาระบบ สู่ความเป็นมาตรฐาน มีคุณภาพ ให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจ 5. ผู้ปฏิบัติงานได้รับความคุ้มครอง และมีความปลอดภัยด้านนพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย มีข้อมูลทั้งจากการปฏิบัติการที่ผ่านมา การศึกษาวิจัย และรายงานต่าง ๆ ได้สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ของการแพทย์ฉุกเฉินไทย ในปัจจุบันยังมีช่องว่างที่จำเป็นที่ต้องได้รับการพัฒนา ทั้งในเรื่องการยกระดับคุณภาพของระบบปฏิบัติการฉุกเฉิน ความไม่เพียงพอของบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน การเข้าถึงการบริการ การบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ยังไม่คล่องตัว และกลไกการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่าง ๆ ยังขาดความชัดเจน ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ประชาชนยังมีน้อย จึงได้จัดการประชุมวิชาการที่มุ่งเน้นการรวมพลังเพื่อลดช่องว่างการแพทย์ฉุกเฉินไทยขึ้นการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งนี้ ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 24 – 26 มีนาคม 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างโอกาสการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉิน ในการพัฒนาความรู้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน และสนับสนุนการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานและการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นเวทีนำเสนอผลงานทางวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเผยแพร่นวัตกรรมสำหรับผู้ปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติการ ผู้บริหาร และภาคีการแพทย์ฉุกเฉิน เกิดความตระหนักและเห็นความความสำคัญของการรวมพลังเพื่อลดช่องว่างการแพทย์ฉุกเฉินไทย และร่วมแรง ร่วมใจกันพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินไทยให้พร้อมก้าวสู่ระดับนานาชาติ ที่สำคัญยังเป็นเวทีสำหรับเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติการ และหน่วยปฏิบัติการที่มีผลงานดีเด่น อันจะเป็นแบบอย่างที่ดี ต่อไป

ทั้งนี้รูปแบบกิจกรรมในการประชุม แบ่งเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนแรก EMS Forum เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับ การปาฐกถาพิเศษ การบรรยาย การ เสวนา การอภิปราย การนำเสนอและประกวดผลงานทางวิชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ส่วนที่สอง EMS Expo เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดแสดงอุปกรณ์ เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการทางการแพทย์ ส่วนที่สาม EMS workshop เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับ การฝึกทักษะจำลองสถานการณ์ เช่น การอำนวยการทางการแพทย์ การจัดการทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ การช่วยฟื้นคืนชีพ เป็นต้น ส่วนสุดท้าย คือ การจัดแสดงนิทรรศการและการนำเสนอผลงานเด่นของหน่วยงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน