“หมอประดิษฐ์” ประธาน สพศท. เสนอ สธ.จัดทำหลักเกณฑ์จ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข หลัง ครม.มีมติอนุมัติ ชี้ต้องเป็นธรรม เหมาะสม ไม่คาใจ หลังยังมีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพในระบบอยู่ เพราะมีทั้งเกณฑ์ตามฉบับ 8 และ 9 หรือทั้งเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและตามภาระงาน ชี้มติ ครม.นี้แค่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เสนอผู้บริหาร สธ.และตระกูล ส แก้ปัญหาเน้นความยั่งยืน ไม่แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งปัญหาขาดแคลนบุคลากรและไหลออกนอกระบบ ระบุเน้นดูแลประชาชน ต้องดูแลบุคลากรในระบบในฐานประชาชนด้วย เพื่อให้ระบบเดินหน้าได้
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงกรณีที่ ครม.มีมติอนุมัติการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนสาธารณสุข ตามหลักเกณฑ์มติ ครม. 26 และ 31 มีนาคม 2556 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า เป็นการอนุมัติค่าตอบแทนตามฉบับที่ 8 และ 9 ที่มีทั้งการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายและภาระงาน โดยเป็นหลักเกณฑ์ฉบับเดียวกับที่ประกาศในสมัยของนายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สาธารณสุข ซึ่งสิ้นสุดการจ่ายในวันที่ 9 กันยายน 2557 และได้ยุติการจ่ายไป ทำให้บุคลากรสาธารณสุขที่เคยได้รับค่าตอบแทนดังกล่าวต่างได้รับความเดือดร้อน ซึ่ง สพศท. ได้เข้าเรียกร้องให้มีการจ่ายต่อเนื่องและได้มีการนำเสนอต่อ ครม.เพื่อขออนุมัติโดยเป็นมติ ครม.ในครั้งนี้
ทั้งนี้ในการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ดี แต่ในรายละเอียดยังไม่ชัดเจน มองว่าเป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพราะหลักเณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนหากยังเป็นไปตามฉบับที่ 8 และ 9 ก็จะมีความแตกต่างกันอยู่มาก โดยส่วนหนึ่งยังคงจ่ายตามพื้นที่ทุรกันดาร และอีกส่วนหนึ่งเป็นการจ่ายตามภาระงาน ซึ่ง รพช.ส่วนใหญ่ใช้ฉบับที่ 8 ส่วน รพศ./รพท. ส่วนใหญ่ใช้ฉบับที่ 9 โดยในส่วนของฉบับที่ 9 สพศท.มองว่าหลักเกณฑ์ดี เพียงแต่การใช้จริงยังมีปัญหา ยังมีความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนในแต่ละวิชาชีพ โดยเฉพาะค่าตอบแทนที่ห่างจากวิชาชีพแพทย์มากเกินไป สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในระบบที่ยังมีอยู่ ดังนั้นจึงควรมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเหมาะสม
“การจ่ายค่าตอบแทนในระบบสาธารณสุข ความไม่เป็นธรรม ความไม่เหมาะสมยังมีอยู่ อยากสะท้อนปัญหา และขอให้ผู้บริหารแก้ไขอย่างจริงจัง โดยแก้ที่รากเหง้าของปัญหา แต่ที่ผ่านมายังเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูกเท่านั้น และยังมีการคาใจกันอยู่ จึงควรมีการระดมความเห็นว่าอะไรที่เป็นธรรม อะไรที่เหมาะสม ในหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน เพราะหากปล่อยไว้ความรู้สึกของบุคลากรในระบบสาธารณสุขก็จะคาราราซังอยู่แบบนี้” ประธาน สพศท. กล่าว และว่า ทั้งนี้ สพศท.เสนอให้แก้ไขปัญหาค่าตอบแทนภาพรวม โดยให้ทุกวิชาชีพร่วมมือกันปรับหลักเกณฑ์ให้ทุกฝ่ายยอมรับกันได้
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ปัญหาหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งในระบบสาธารณสุขอยากให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แก้ปัญหาอย่างจริงจังเพื่อความยั่งยืนของระบบ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ทั้งปัญหาขาดแคลนบุคลากร และการคงบุคลากรสาธารณสุขให้อยู่โดยไม่ไหลออกจากระบบ โดยเฉพาะพยาบาลซึ่งยอมรับว่าขณะนี้มีปัญหาหนักมาก รวมถึงแพทย์ในบางสาขา นอกจากนี้ยังมีปัญหาคุณภาพบุคลากรที่มีการเร่งผลิตที่เริ่มเห็นปัญหาเช่นกัน โดยพบว่าการกระจายผลิตแพทย์ที่ให้ สธ. ร่วมผลิตมีคุณภาพที่ต่างจากโรงเรียนแพทย์
“ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติงานมองว่าการแก้ไขปัญหาของผู้บริหาร สธ. หรือแม้แต่หน่วยงานต่างๆ ในตระกูล ส.ที่มีการพูดหรือแถลงผ่านสื่อ เป็นเพียงแค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่รอบด้าน เป็นเพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น โดยหยิบเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์นำเสนอเพื่อปกป้องการทำงาน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอย่างจริงจังทำให้รู้สึกผิดหวัง” ประธาน สพศท. กล่าว และว่า ทั้งนี้ผู้บริหารน่าจะมองการแก้ไขปัญหาระยะยาว ไม่เพียงแต่มุ่งดูแลประชาชนเท่านั้น แต่ต้องดูแลบุคลากรในระบบด้วย เพราะบุคลากรก็ถือเป็นประชาชนเช่นกัน แต่ที่ผ่านมารัฐให้ความสำคัญกับดูแลบุคลากรในระบบน้อยไป ซึ่งเราอยากให้ทุกส่วนไปด้วยกันได้คือประชาชนมีความสุข บุคลากรก็มีความสุขด้วย ระบบจึงจะเดินไปได้ด้วยดี
- 8 views