การได้มาซึ่ง “พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. 2556” ที่ได้มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมานั้น แม้จะถือเป็นความสำเร็จหลังจากใช้เวลาต่อสู้มาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี แต่ยังนับเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นในการเดินหน้า “วิชาชีพการสาธารณสุข” เท่านั้น ทั้งการกำหนดกรอบการทำงาน การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ ที่จะมีกฎหมายรองรับในการปฏิบัติหน้าที่เป็นด่านหน้าด้านสุขภาพให้กับเหล่า “นักสาธารณสุข” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หมออนามัย” ซึ่งกระจายประจำการยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพที่เป็นมาตรฐาน ถึงจะเป็นเพียงการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลเบื้องต้นก็ตาม
จากคำถามเริ่มต้นที่ว่า “หมออนามัยซึ่งทำงานในสถานีอนามัย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น รพ.สต.) ที่ทำหัตถการด้านการรักษาพยาบาลให้กับชาวบ้านมีกฎหมายอะไรที่คุ้มครองการทำงานหรือไม่” นำมาซึ่งการเดินหน้าผลักดัน พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข พ.ศ. 2556
ผศ.ดร.สงครามชัย ลีทองดี
ผศ.ดร.สงครามชัย ลีทองดี คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อดีตหมออนามัย บอกย้อนถึงที่มาที่ไป และเล่าต่อว่า วิชาชีพทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ หรือแม้แต่นักกายภาพบำบัด ล้วนแต่มีกฎหมายวิชาชีพเฉพาะของตนเองทั้งสิ้นเพื่อรองรับการทำงาน มีเพียงหมออนามัยที่จบปริญญาตรีด้านสาธารณสุขศาสตร์ที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะวิชาชีพรองรับ จึงมีความพยายามในการผลักดันกฎหมายมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
ดร.สงครามชัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้แม้ว่าจะมีประกาศระเบียบกระทรวงสาธารณสุขรองรับ โดยออกตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นกฎหมายของแพทย์ โดยให้การทำงานของหมออนามัยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ แต่ข้อเท็จในทางปฏิบัติแพทย์ไม่ได้นั่งทำงานประจำที่ รพ.สต. ดังนั้นจะควบคุมการทำงานของหมออนามัยได้อย่างไร ประกาศระเบียบดังกล่าวจึงไม่สามารถใช้ได้จริง ซึ่งในกรณีที่เกิดปัญหาการบริการสุขภาพขึ้น ประกาศระเบียบนี้จึงไม่สามารถดูแลคุ้มครองการทำงานของหมออนามัยได้
ด้วยเหตุนี้ข้างต้นนี้จึงมีการเดินหน้าผลักดัน เริ่มจากการจัดสัมมนาโต๊ะกลมที่มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพูดคุยถึงปัญหาการทำงานของหมออนามัย มีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายด้านการแพทย์และสาธาณสุข เข้าร่วม อาทิ นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์, รศ.วชิระ สิงหคะเชนทร์ และ น.สพ.สุวงศ์ ศาสตรวาหา รวมทั้งตัวแทนวิชาชีพด้านการแพทย์ ทั้งแพทยสภา สภาการพยาบาล เป็นต้น ซึ่งมีข้อสรุปว่า หมออนามัยควรมีกฎหมายรองรับเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ
ประกอบกับขณะนั้นมีนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล ทำวิทยานิพนธ์ “การคุ้มครองการทำงานเวชกรรมของหมออนามัย” ที่พบว่ายังไม่มีกฎหมายใดคุ้มครอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเองก็ยังรับในปัญหานี้ จึงนำมาสู่การแก้ไขระเบียบกระทรวงในปี 2539 ลงรายละเอียดการคุ้มครองการทำงานของหมออนามัยให้ชัดเจนขึ้น แต่คนทำงานด้านสาธารณสุขต่างยังรู้สึกไม่มั่นใจ จึงได้เริ่มมีการยกร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขขึ้นและขับเคลื่อนผ่านทางสมาคมหมออนามัย ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มีคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้การสนับสนุนด้านวิชาการ
ดร.สงครามชัย กล่าวว่า แต่ด้วยแนวคิดที่เห็นต่างในกลุ่มหมออนามัยด้วยกัน ในการจัดทำร่างกฎหมายนั้น โดยกลุ่มหนึ่งต้องการให้ใช้คำว่าร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขฉุกเฉิน เนื่องจากต้องการให้มีการชี้ถึงบทบาทและการปฏิบัติงานในพื้นที่จริงของหมออนามัยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลและการบำบัดโรคเบื้องต้น แต่หมออนามัยอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า การทำงานของหมออนามัยควรเน้นที่การส่งเสริมป้องกันและไม่ควรนำเรื่องการรักษาพยาบาลเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดความขัดแย้งและเป็นสาเหตุให้การผลักดันกฎหมายล่าช้า
“ในช่วงการนำเสนอกฎหมายนั้น เริ่มต้นได้รับการตอบรับด้วยดี ตั้งแต่สมัยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ด้วยกระทรวงสาธารณสุขมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการบ่อย จึงขาดความต่อเนื่อง แต่ด้วยการเกาะติดการผลักดันร่างกฎหมาย ในที่สุดร่างกฎหมายนี้จึงได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเสนอต่อกฤษฎีกาพิจารณา ซึ่งต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็นรัฐบาลความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้าบริหาร” คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าว
ดร.สงครามชัย กล่าวว่า สมัยรัฐบาล คมช. ฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียงแค่ 200 คน ส่วนใหญ่มาจากการตั้งแต่ง ทั้งยังมี นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ มี นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความเข้าใจงานวิชาชีพหมออนามัย เป็น รมว.สาธารณสุข น่าจะเป็นโอกาสทำให้ผ่านการพิจารณาได้เร็ว แต่กลับเป็นร่างกฎหมายฉบับแรกที่ตกจากสภานิติบัญญัตินี้ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาความขัดแย้งนี้ มีการนำเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉับ คือ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุข และร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน นอกจากนี้ยังมีการคัดค้านจากกลุ่มวิชาชีพอื่น อย่างแพทย์และพยาบาล ทางสภานิติบัญญัติฯ จึงเห็นควรให้นำร่างนี้ออกก่อนเพื่อให้ตกผลึกและค่อยนำกลับมาพิจารณอีกครั้ง
หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขตกไปแล้ว ที่ประชุมคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ได้หารือทบทวน โดยเชิญทางสมาคมหมออนามัย ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขเข้าร่วมเพื่อประชุมหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งหลังจากที่มีบทเรียนร่างกฎหมายไม่ผ่านการพิจารณามาแล้ว ทำให้ต่างฝ่ายต่างสงวนจุดต่างเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา และยังมีการดำเนินการเสนอกฎหมายอย่างรัดกุม ทำให้ร่าง พรบ.วิชาชีพการสาธารณสุขผ่านการพิจารณาและประกาศบังคับใช้ได้ในที่สุด
“หลังมีกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะทำให้มาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขดีขึ้น มีมาตรฐานการทำงานที่ชัดเจนขึ้น โดยจะมีการตั้งสภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนขึ้นมาควบคุมเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ อย่างแพทย์และพยาบาล และที่สำคัญยังเป็นการคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนควรพึ่งมีพึ่งได้ตามสิทธิขึ้นพื้นฐาน แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีมาตรฐานเท่าที่ควร” ดร.สงครามชัย กล่าวและว่า ในด้านการรักษาพยาบาลนั้น กฎหมายระบุว่าเป็นการประเมินและบำบัดการเจ็บป่วยเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรอบเขียนไว้กว้างมาก ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนที่จะมากำหนดขอบเขตของการประเมินและบำบัดการเจ็บป่วยเบื้องต้น ซึ่งในการรักษาพยาบาลเราคงทำเหมือนแพทย์ไม่ได้ คงไม่สามารถก้าวล่วงวิชาชีพอื่นได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปฏิเสธการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้นได้
ดร.สงครามชัย กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพนักการสาธารณสุขนั้นถือเป็นโจทย์ใหญ่ และกฎหมายเขียนไว้กว้างมาก ซึ่งผู้ทำหน้าที่นี้มีทั้งที่จบคณะสาธารณสุขบัณทิต, จบ วทบ.(สาธารณสุขศาสตร์) จบชีวอนามัย เป็นต้น ความเห็นส่วนตัวมองว่า ต่อไปนักการสาธารณสุขต้องปรับให้เหลือเพียงผู้จบหลักสูตรสาธารณสุขบัณฑิตเท่านั้น ซึ่งคงต้องใช้เวลาเพราะขณะนี้ยังถือเป็นเพียงก้าวแรกในการปรับเปลี่ยนระบบมาตรฐานวิชาชีพสาธารณสุข อย่างแพทย์หรือพยาบาลและวิชาชีพอื่นกว่าจะลงตัวต้องใช้เวลาเป็นสิบปี อย่างไรก็ตามขณะนี้การขับเคลื่อนจัดตั้งสภาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนยังมีความล่าช้าอยู่มาก เพราะหลังกฎหมายบังคับใช้เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ได้ติดปัญหาสถานการณ์การเมือง กลายเป็นช่วงสูญญากาศ ซึ่งถือว่าเป็นจังหวะไม่ดี แต่คงต้องรอการเดินหน้าต่อไป เพื่อมุ่งยกระดับวิชาชีพการสาธารณสุขได้ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนในการเข้ารับบริการ
- 177 views