มติชน - ไวรัสตับอักเสบเป็นกลุ่ม เชื้อไวรัสที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะอาศัยอยู่ที่ตับ มีทั้งไวรัสตับอักเสบเอ, บี, ซี, ดี และอี แม้บางชนิดจะมีวัคซีนป้องกันแล้ว แต่ก็ยังถือเป็นภัยเงียบที่คุกคามประชากรโลก โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคตับอักเสบ ตับแข็ง และมะเร็งตับในคนไทยและประชากรทั่วโลก ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะมีประวัติการติดเชื้อจากทางเลือด ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเลือดจากการเสียเลือด หรือตกเลือดจากการคลอดบุตร เป็นโรคโลหิตจาง เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีการตรวจกรองไวรัสตับอักเสบซีในเลือด ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น เสพยาเสพติดด้วยการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาดร่วมกัน ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีจะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้ง่าย ส่วนการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยการถ่ายทอดจากแม่ที่ตั้งครรภ์สู่ลูกก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่น้อย
ศ.นพ.พิสิฐ ตั้งกิจวานิชย์ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนักวิจัยดีเด่นประจำปี 2556 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไวรัสตับอักเสบให้ความรู้ว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่า ไวรัสตับอักเสบซีมีสายพันธุ์ต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ทั่วโลกมีทั้งหมด 7 สายพันธุ์ ส่วนในประเทศไทยมี 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 1, 3 และ 6 ในการรักษานั้นจะยากง่ายต่างกัน ทั้งนี้ในงานวิจัยพบว่า ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีประมาณร้อยละ 2 ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่าป่วยเป็นโรคนี้เนื่องจากไม่แสดงอาการชัดเจน ส่วนใหญ่จะพบเมื่อมีการตรวจสุขภาพ หรือบริจาคเลือดแล้วพบว่าการทำงานของตับผิดปกติ ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะรู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคนี้เมื่อมีอาการเรื้อรังของโรคตับ เช่น ตับแข็ง ตาเหลือง ตัวเหลือง ขาบวม ผู้ป่วยบางคนอาจทราบเมื่อป่วยเป็นมะเร็งที่ลุกลามแล้ว ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ สามารถตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคนี้ได้ในเบื้องต้น โดยการตรวจเลือดเพื่อหาสารบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับไวรัส และทำการตรวจยืนยันอีกครั้งว่าเป็นโรคนี้จริงหรือไม่
ศ.นพ.พิสิฐกล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการรักษาไวรัสตับอักเสบซีสามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยา โดยการฉีดยาร่วมกับกินยา ต้องรักษาต่อเนื่องจนครบกำหนดซึ่งใช้เวลานาน 6 เดือน ถึง 1 ปี การรักษาจะได้ผลแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัส ปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกาย ระยะเวลาที่ตรวจพบอาการป่วยของโรคนี้ และลักษณะทางพันธุกรรมของผู้ป่วย
"แนวทางการศึกษาวิจัยเรื่องไวรัสตับอักเสบซีนั้น ในอนาคตจะมุ่งศึกษาเพื่อตอบโจทย์ข้อมูลในต่างประเทศที่ยังมีการศึกษาน้อย รวมถึงทำนายการเกิดตับแข็ง มะเร็งตับ และความรุนแรงของโรคนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคตับ ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการใช้ยาฉีดและยากิน ซึ่งมีราคาค่อนข้างแพง และอาจมีผลข้างเคียงในการรักษา" ศ.นพ.พิสิฐกล่าว และว่า สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีสายพันธุ์ 3 และมีความรุนแรงของอาการที่ตับตามเกณฑ์ที่กำหนดสามารถเข้ารับการรักษาได้ในระบบประกันสุขภาพ โดยใช้สิทธิบัตร 30 บาทและบัตรประกันสังคม ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและเป็นโอกาสที่ดีมาก ดังนั้นผู้ป่วยรวมทั้งผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคนี้จึงควรเข้ารับการตรวจหาสายพันธุ์ไวรัส เพื่อเป็นประโยชน์ในการหาช่องทางรักษา ส่วนไวรัสตับอักเสบบีนั้น การรักษามักจะไม่หายขาด เพียงแต่เป็นการคุมไวรัสให้อยู่ในระดับต่ำที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายเท่านั้น ซึ่งในอนาคตจะต้องศึกษาค้นคว้าเพื่อหายาที่รักษาไวรัสตับอักเสบบีให้หายขาดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ รวมถึงหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และดูแลสุขภาพไม่ให้เป็นโรคไขมันสะสมในตับ
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 12 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 34 views