เดลินิวส์ - สถานการณ์ "ไข้หวัดนก" ที่ระบาดอยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน จากไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช 7 เอ็น 9 ทำให้หลาย ๆ คนในประเทศไทย หวั่นวิตกว่า เชื้อดังกล่าวจะเข้ามา ระบาดในประเทศหรือไม่ หรือแม้กระทั่งว่า บางคนมีอาการปวดหัว ตัวร้อน ก็คิดไปว่าตัวเองอาจติดเชื้อไข้หวัดนก
เมื่อเร็วๆ นี้ที่ จ.นนทบุรี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ชี้แจงกรณีมีข่าวโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาดในหลายพื้นที่ จนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและมีผู้เสีย ชีวิต โดยข่าวนี้อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและวิตกกังวลว่าเชื้ออาจมีการกลายพันธุ์เป็นไข้หวัดนกและอาจเกิดการระบาดใหญ่จนทำให้มีผู้ป่วยและมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ในประเด็นนี้ นพ.โสภณ บอกว่ากระทรวง สาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคได้มีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันห้องปฏิบัติการของประเทศไทยสามารถตรวจวิเคราะห์โรคนี้ได้ และยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 (H 7 N 9)เอช 10 เอ็น 8 (H 10 N 8) และ เอช 5 เอ็น 1 (H 5 N 1) ในประเทศไทย และข่าวที่ว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แท้จริงแล้วเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลหรือโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 (H 1 N 1) เท่านั้น ส่วนในเรื่องการกลายพันธุ์จากไข้หวัดใหญ่เป็นไข้หวัดนก นั้น ขณะนี้ได้รับการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าไม่พบการกลายพันธุ์อย่างแน่นอน เชื้อที่ตรวจพบยังคงเป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและวิตกกังวลจนเกินเหตุ
ส่วนสาเหตุที่พบว่ามีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่เป็นจำนวนมาก นพ.โสภณ บอกว่าเป็นเพราะช่วงนี้สภาพอากาศกำลังเปลี่ยนจากปลายฤดูหนาวเข้าสู่ต้นฤดูร้อน ช่วงเช้าอากาศจะเย็นแต่ช่วงบ่ายอากาศจะร้อน บางวันอาจมีหมอกลงหรือมีฝนตก ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ อาจเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัดได้ง่าย ทั้งนี้จากรายงานการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 ม.ค.-1 มี.ค. 57 พบมีผู้ป่วยทั่วประเทศสะสม 11,513 ราย เสียชีวิต 6 ราย แต่ยังไม่พบการระบาดรุนแรงในประเทศไทย กลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดคือช่วงอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 12.46 รองลงมา คือ อายุ 7-9 ปี ร้อยละ 12.02 และ อายุ 25-34 ปี ร้อยละ 10.35 จังหวัดที่มีผู้ป่วยจำนวนมากส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดทางภาคเหนือ สูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงใหม่ และระยอง
ผู้ที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ มักมีอาการนำด้วยการเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมากในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ให้รีบพบแพทย์ ในกรณีที่มี ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า 1 คนในสถานที่ที่คนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานศึกษา โรงงาน สำนักงานต่าง ๆ แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดทำงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน และให้ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่าง ๆ อย่างเช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะอาหาร ฯลฯ ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปอย่างน้อยวันละ 1-2 ครั้ง
นพ.โสภณ ยังบอกด้วยว่าประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันตนเองจากไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยการมีสุขอนามัยที่ดี เช่น การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัว ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น ส่วนผู้ที่ดูแลและคลุกคลีกับผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากป้องกันโรค หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สัมผัสตัวหรือข้าวของเครื่องใช้ผู้ป่วย หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ หายใจหอบเหนื่อย ภายใน 7 วัน ให้มาพบแพทย์และแจ้งประวัติการสัมผัสผู้ป่วยให้แพทย์ทราบ
"โรคไข้หวัดใหญ่นั้นสามารถป้องกันและรักษาได้ตามอาการป่วย หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน ให้นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ไม่ควรออกกำลังกาย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้มาก ๆ และสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ ผู้อื่น จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนกกับข่าวต่าง ๆ แต่ควรติดตามข่าวสารและคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด หรือหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค โทร. 0-2590-3159 หรือ เว็บไซต์ http://beid.ddc.moph.go.th หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422" นพ.โสภณกล่าว
สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคชี้แจงว่ามีอยู่ 2 มาตรการด้วยกัน มาตร การแรก คือการใช้วัคซีนป้องกันโดยกรมควบคุมโรคได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช.เตรียมวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ไว้ประมาณ 3 ล้านโด๊ส เพื่อให้บริการฟรีแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 3 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1. เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปและหญิงตั้งครรภ์ 2. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 โรค ได้แก่ หอบหืด ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เบาหวาน หลอดเลือดสมองและผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และผู้มีโรคอ้วน 3. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ที่ทำงานสอบสวนควบคุมโรค เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทำลายซากสัตว์ปีกและสัตว์อื่นที่สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและอาจเป็นผู้แพร่โรคต่อไปยังผู้อื่นได้พร้อม ๆ กัน และขอย้ำเพื่อทำความเข้าใจว่าวัคซีนไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันการระบาดของโรค แต่มีไว้เพื่อป้องกันการเกิดโรคในกลุ่มเสี่ยงคือหากกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยจะไม่เสียชีวิตหรือโอกาสในการเสียชีวิตต่ำลง และการฉีดวัคซีนในปัจจุบันนั้นก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
ส่วนมาตรการที่สอง ไม่ต้องใช้วัคซีนแต่จะใช้หลักสุขอนามัยที่ดี โดยเฉพาะสุขอนามัยส่วนบุคคลเน้นใน 3 เรื่องคือ 1. การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาด 2. การใส่หน้ากากป้องกันโรคเมื่อป่วย พบ ว่ามีผู้ป่วย และ 3. เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ต้องหยุดงาน หยุดเรียนและพบแพทย์เพื่อรับการรักษา.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 12 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 4 views