คมชัดลึก - จากกรณีที่มีข่าวพบผู้ป่วยและเสียชีวิต ด้วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H10N8 ในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือว่าเป็นการพบในคนเป็นครั้งแรก จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่า ผู้ป่วยมีประวัติเดินทางไปตลาดสดค้าสัตว์ปีกในท้องถิ่นและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่น และเสียชีวิตด้วยอาการโรคปอดอักเสบรุนแรง ขณะนี้ยังไม่พบบุคคลในครอบครัวและสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การเฝ้าระวังทางการแพทย์แสดงอาการเจ็บป่วยหรือผิดปกติ
สำหรับเชื้อก่อโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H10N8 เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือ Influenza virus ซึ่งแยกเป็น 3 ชนิด คือ A, B และ C แต่ที่ก่อโรคในคนและสัตว์มักพบเป็นชนิด A และ B ชนิด A มักจะก่อโรครุนแรงได้ทั้งในคนและสัตว์ ปัจจุบันเรามักจะได้ยินชื่อไข้หวัดใหญ่อยู่ 3 แบบ คือ ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมูและไข้หวัดตามฤดูกาล ซึ่งเกิดโรคในคนและมีการระบาดเป็นประจำทุกปี
แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไข้หวัดนกได้กลายพันธุ์ข้ามจากโรคของสัตว์ปีกมาก่อโรครุนแรงในคน ซึ่งประเทศไทยและอีกหลายประเทศได้ประสบปัญหาร้ายแรงกระทบต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุขมาแล้ว เมื่อปี 2546 จากไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง พบไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H7N9 เมื่อเดือนมีนาคม 2556 ตามมาด้วยไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H10N8 ในประเทศจีนอีกครั้ง
โดยทั่วไปเชื้อไข้หวัดนกแบ่งเป็น 2 ชนิด ตามความรุนแรงของอาการในสัตว์ปีก คือ ชนิดไม่รุนแรง และชนิดรุนแรงมาก ซึ่งชนิดนี้พบในชนิดย่อย (subtype) H5 และ H7 การที่เชื้อแบ่งเป็นชนิดย่อยตาม H (Hem agglutinin) และ N (Neuraminidase) ก็เนื่องจากโปรตีนทั้ง 2 ชนิด ที่อยู่บนเปลือกหุ้มของไข้หวัดใหญ่ชนิด A มีคุณสมบัติแตกต่างกันทำให้แยก H ออกเป็น H1 ถึง H18 และ N แยกเป็น N1 ถึง N11 และหากเชื้อ 2 ชนิด ที่มีองค์ประกอบของ H และ N ต่างกันมาผสมข้าม สายพันธุ์ก็อาจได้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเกิดจาก การสลับชิ้นส่วนของ H และ N ของเชื้อตั้งต้น 2 ชนิด ซึ่งลูกผสมสายพันธุ์ใหม่นี้ (Reassortant virus) อาจมีคุณสมบัติที่สามารถแพร่เชื้อในคน และก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้แม้ว่าจะไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ในสัตว์ แต่เมื่อไวรัส ตัวเดียวกันนี้มาพบติดเชื้อในคนเป็นครั้งแรก เราจึงเพิ่มชื่อ "สายพันธุ์ใหม่" เข้าไปด้วย เช่น เชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H5N1, H7N9 และ H10N8 เป็นต้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลก ให้เป็นศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ (WHO National Influenza Center) โดยเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงระดับชาติ ตั้งแต่ปี 2515 และได้มีการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการสำหรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิดต่างๆ รวมทั้งเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในคนตลอดมา
การเตรียมความพร้อมในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ H10N8 นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถตรวจวิเคราะห์ หาสายพันธุ์ไข้หวัดนกชนิด H10N8 ได้ โดยห้องปฏิบัติการส่วนกลางใช้วิธีหาลำดับเบสของสารพันธุกรรมหรือยีนส่วน H และ N (Gene sequencing) ในการตรวจยืนยันสายพันธุ์ไข้หวัดนก H10N8 และกำลังขยายศักยภาพการตรวจวิเคราะห์แบบรวดเร็ว ไปยังห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคอีก 14 แห่ง เพื่อให้สามารถรายงานผลได้ภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ที่ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รับตัวอย่าง
โดยข้อมูลและเชื้อไวรัสเหล่านี้จะมีการแลกเปลี่ยน กับองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างใกล้ชิดและจัดตั้งระบบการเฝ้าระวังโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในส่วนกลาง ได้แก่ ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และในส่วนภูมิภาค ได้แก่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 แห่ง ที่สามารถให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการได้อย่างครอบคลุมทั่วประเทศ
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมประชุมวิชาการ'IMMUNE MEDIATED NEUROPATHY'
โรงพยาบาลกรุงเทพ และชมรมโรคเส้นประสาทร่วม กล้ามเนื้อ และเวชศาสตร์ไฟฟ้าวินิจฉัย(THAI-NEMS) ภายใต้สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ขอเชิญแพทย์ผู้สนใจ เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ IMMUNE MEDIATED NEUROPATHY ในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2557 ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น. ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารพักฟื้นผู้ป่วย โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้แพทย์ที่สนใจต้องการเข้าร่วมการประชุมทางวิชาการในครั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและสำรองที่นั่ง ได้ที่คุณ สุจิตต์ โทร. 0-2310-3300 ต่อ 1719 หรือส่งอีเมลมาที่ sudjit.pi @bangkokhospital.com--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 9 มกราคม 2557
- 19 views