แนวหน้า - นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงนโยบายด้านสตรีของกรุงเทพมหานคร 3 เรื่องใหญ่ที่ดูแลสตรี ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดความรุนแรงที่กระทำ ต่อสตรีอันเป็นปัญหาของครอบครัวที่พบมากอยู่ในปัจจุบัน
และเรื่องนี้กรุงเทพมหานครได้มอบมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ศึกษาวิจัยความรุนแรงต่อสตรี โดยลงพื้นที่เข้าถึงชุมชนต่างๆ มีการสำรวจสภาพปัญหากลไกความรุนแรงที่เกิดขึ้นไปจนถึงวางแนวทางแก้ไขและช่วยเหลือ โดยประสานข้อมูลศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี One Stop Crisis Center (OSCC) จากโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 9 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร 68 แห่ง และศูนย์รับแจ้งเหตุรุนแรง 1,500 ศูนย์ในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ กำหนดระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2557 มสธ.จะสรุปผลศึกษาวิจัยนำเสนอกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดตั้งเครือข่ายลดความรุนแรงต่อสตรีอย่างจริงจังเป็นระบบต่อไป
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังมีนโยบายช่วยแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจอีกด้วย โดยเฉพาะประเด็นหนี้สิน ได้กำหนดโครงการ "ผู้หญิงใจกล้า เผชิญหน้าเผชิญหนี้" ในปี 2556 ต่อยอดขยายผลเป็นโครงการ "หญิง-ชายใจกล้า เผชิญหน้าเผชิญหนี้" ในปี 2557 ให้ความช่วยเหลือส่งเสริมให้ประชาชนทั้งหญิง-ชาย เกิดความรู้การบริหารจัดการรายได้ ที่สำคัญการแก้ปัญหาหนี้สินยังสามารถช่วยพัฒนาให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำแก่บุคคลอื่นในองค์กร ชุมชน หรือประชาชนทั่วไปได้อีกทางหนึ่ง เพื่อช่วยสร้างคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมที่ดีสืบไป
อีกหนึ่งนโยบายคือดูแลสุขภาพของสตรี มีการ จัดโครงการรณรงค์ให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาเห็นความสำคัญของการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้ผู้หญิงเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก โดยสั่งการสำนักอนามัยได้จัดรถเคลื่อนที่ให้บริการตรวจเช็คมะเร็งทั้งสองโรค เวียนไปตามชุมชนต่างๆ เพื่อ เป็นบริการเชิงรุก หากพบว่าเป็นก็จะส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 10 มีนาคม 2557
- 1 view