นสพ.มติชน : กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพฯ บุกร้อง กทม.ยกระดับ 'ศูนย์สาธารณสุข' 68 แห่งเทียบโรงพยาบาลชุมชน 'ผุสดี' เผยนำร่อง 'ซุปเปอร์คลินิก' 4 แห่ง เขตลาดพร้าว บางแค บึงกุ่ม และคลองเตยรับคนไข้ใน 'แพทย์-พยาบาล'ประจำ 24 ชั่วโมง ส่วนแผนสร้าง รพ. 4 มุมเมือง รพ.คลองสามวา รพ.ดอนเมือง รพ.บางนา และ รพ.บางขุนเทียน คาดอีก 3-5 ปี เปิดให้บริการได้
นสพ.มติชน : เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ศาลาว่าการ กทม. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและตัวแทนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนรวมกว่า 300 คน เข้ายื่นหนังสือถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้ดำเนินการเพื่อให้คนกรุงเทพฯ เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากโรงพยาบาลในพื้นที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาแออัด โดยมีนางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าฯ กทม. นพ.สุรินทร์ กู้เจริญประสิทธิ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และนางวันทนีย์ วัฒนะ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมรับเรื่อง
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ประสานงานร่วมกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กลุ่มประชาชนเรียกร้อง กทม.ใน 3 เรื่อง 1.ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 68 แห่งให้มีศักยภาพเทียบเท่าโรงพยาบาลชุมชน 2.แก้ไขระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการเปิดกองทุนส่งเสริมป้องกันโรคระดับพื้นที่ มีคณะกรรมการกองทุนที่มาจากทุกภาคส่วน และเปิดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม 3.สร้างโรงพยาบาลในพื้นที่ที่ไม่มีหน่วยบริการของรัฐ รวมถึงให้มีสถานพยาบาลสำหรับผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรและบัตรประชาชนใน กทม.โดยจะทวงถามความคืบหน้าในอีก 3 เดือน
ด้านนางผุสดี กล่าวว่า กทม.ได้พัฒนาระบบสุขภาพประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 9 แห่ง นอกจากนี้ มีแผนสร้างโรงพยาบาล 4 มุมเมือง เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ชานเมือง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการคือ รพ.คลองสามวา รพ.ดอนเมือง รพ.บางนา และ รพ.บางขุนเทียน คาดว่าภายใน 3-5 ปี จะเปิดให้บริการประชาชนได้
"ส่วนข้อเรียกร้องให้ กทม.ยกระดับศูนย์สาธารณสุข กทม.เป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กเทียบเท่าโรงพยาบาลตำบลนั้นอาจทำได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณในการบริหารจัดการบุคลากร อย่างไรก็ตาม ศูนย์สาธารณสุข กทม.ทั้ง 68 แห่ง ถือเป็นศูนย์คัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้ กทม.มีแผนจะพัฒนาศูนย์สาธารณสุขให้เป็นซุปเปอร์คลินิกที่มีความพร้อม มีประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลเบื้องต้น อาทิ มีแพทย์ พยาบาล อยู่ประจำ 24 ชั่วโมง คนไข้นอนดูอาการ พักฟื้น ซึ่งจะลดการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลได้ จะนำร่องซุปเปอร์คลินิก 4 แห่งในพื้นที่เขตลาดพร้าว เขตบางแค เขตบึงกุ่ม และเขตคลองเตย อีกทั้ง กทม.ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขจำนวนกว่า 10,000 คน กระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ เป็นส่วนดูแล ป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สำหรับกรณีจัดตั้งกองทุนส่งเสริมป้องกันโรคระดับพื้นที่ กทม.ขอพิจารณาอีกครั้ง" นางผุสดีกล่าว
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัด กทม.มีผู้ป่วยเข้ารักษาพยาบาลปีละ 3.8 ล้านคน เป็นประชาชนในเขตกรุงเทพฯ กว่าร้อยละ 60 เป็นประชาชนนอกเขตพื้นที่และชาวต่างด้าวรวมกว่าร้อยละ 40 ส่วนในศูนย์บริการสาธารณสุข มีผู้ใช้บริการปีละกว่า 1.6 ล้านคน
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 21 ต.ค. 2558 (กรอบบ่าย)
- 52 views