เวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย คึกคัก ชู “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างนวัตกรรมการจัดการสุขภาวะโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง” "หมอประเวศ" แนะปฏิรูปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองทางออกประเทศไทย ชี้รากฐานแข็งแรงนำไปสู่ความมั่นคงของชาติ ปรับโครงสร้างลดอำนาจรัฐ-คืนอำนาจให้ประชาชน

วันนี้ ( 1 มี.ค.) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดงานเวทีฟื้นพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทย ครั้งที่ 4 ประจำปี 2557 “พลังชุมชนท้องถิ่นร่วมสร้างนวัตกรรมการจัดการสุขภาวะโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง”โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนสาธารณประโยชน์ (NGOs) และหน่วยงานภาครัฐ สมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ร่วมงานกว่า 4,000 คน
        
ศ.นพ.ประเวศ วะสี  ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ปฏิรูปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”ว่า ชุมชนท้องถิ่นคือฐานของประเทศไทย ถ้าฐานแข็งแรง ประเทศไทยจะมั่นคง เป็นการอภิวัฒน์และเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ซึ่งมีการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้มาก่อนที่กระแสปฏิรูปประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างปัจจุบัน เพราะมองเห็นว่าการปฏิรูปประเทศคือ การปรับรูปโฉมใหม่ โดยการสร้างรากฐานที่แข็งแรง เมื่อคนในชุมชนทำงานเรื่องดีๆ มากขึ้นประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแน่นอน
       
“ขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนเป็นประวัติศาสตร์ว่าต้องมีการปฏิรูปประเทศ คือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ด้วยการคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเอง ทั้งในรูปชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ได้จัดการตนเอง ปัจจุบันมีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองทั่วประเทศ รวมทั้งมีการจัดทำธรรมนูญจัดการตนเองในแต่ละจังหวัด ซึ่งฐานผู้นำชุมชนเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในฐานการพัฒนาของประเทศ ซึ่งอนาคตผู้ที่จะทำงานการเมืองระดับประเทศจะต้องผ่านการเมืองระดับท้องถิ่นมาก่อน เพื่อพิสูจน์ว่าทุ่มเททำงานอย่างแท้จริง”ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
        
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวต่อว่า ชุมชนควรจะสร้างฐานข้อมูลและการสื่อสารของตนเอง ทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ วารสารท้องถิ่นฯลฯ ควรจัดเวทีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองทุกเดือน เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละจังหวัด ให้สามารถนำโครงการที่มีประโยชน์นำไปปรับใช้ได้ ซึ่งอนาคตจะต้องมีการยกร่าง พ.ร.บ.จังหวัดจัดการตนเอง ให้มีกฎหมายรับรองเพื่อให้ทุกข้อเสนอนำไปสู่การรับฟังจากคณะรัฐมนตรี หากเป็นนโยบายที่สามารถปฏิบัติได้ก็จะต้องทำทันที หากยังปฏิบัติไม่ได้ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและนำไปสู่การปฏิบัติ เรียกว่าเป็นการกระชับพื้นที่จากฐานล่างที่มีความแข็งแรงไปสู่ด้านบนสุดของสังคม
        
นายสมพร ใช้บางยาง ประธานคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 3 สสส. กล่าวว่า ผลจากการทำงานของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มี 8 ประการ คือ 1.ความมั่นใจและความเชื่อมั่นจากการทำงานและเรียนรู้ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง2.การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ สามสร้างยกกำลังสาม 3.การพัฒนาระบบข้อมูลตำบล 4.การพัฒนาผู้นำและเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนของเครือข่าย5.สร้างและพัฒนากลไกการจัดการเครือข่าย6.การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของสมาชิกเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่7. ในปี2557 เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ได้ตกลงร่วมกันที่จะสร้างรูปธรรม และเก็บเกี่ยวผลลัพธ์ของนวัตกรรมการจัดการสุขภาวะโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ครอบคลุม “นวัตกรรมการลดปัจจัยทางสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง” ให้ครอบคลุมนวัตกรรมการลดปัจจัยทางสุขภาพโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และ 8.การปฏิรูปการกระจายอำนาจ ทั้งนี้ มั่นใจว่า สามารถร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ได้ด้วยทุนทางสังคมของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่น