กฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เริ่มต้นอย่างเป็นทางการโดยการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๖ ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ ทำให้เราได้ พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. ๒๕๕๖   อย่างสมบูรณ์หลังการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า ๒๐ ปี

มีเกร็ดที่ควรบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์คือวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยคือวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ หากนับย้อนหลังไปเมื่อวันเดียวกันคือ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๖๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นเป็นครั้งแรกและกรมสาธารณสุขได้พัฒนามาเป็นกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันสาธารณสุขแห่งชาติ เรื่องนี้เป็นความบังเอิญหรือจงใจก็สุดจะคาดเดาแต่ก็เกิดขึ้นแล้ว

ประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจคือการเริ่มต้นของวิชาชีพด้านสุขภาพล่าสุดนี้จะเริ่มกันอย่างไร

สภาการสาธารณสุขชุมชนชุดเริ่มต้น

การเริ่มต้นของวิชาชีพตามกฎหมายเป็นอันดับแรกคือการจัดตั้งสภาวิชาชีพซึ่งในกฎหมายเรียกว่า “สภาการสาธารณสุขชุมชน” องค์กรนี้จะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานตามกฎหมายวิชาชีพฉบับนี้ องค์ประกอบที่สำคัญคือกรรมการสภาวิชาชีพในชุดเริ่มแรก กฎหมายกำหนดไว้ตามความในมาตรา ๕๐ ดังนี้

“มาตรา๕๐ ในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่เลือกกรรมการ..ให้กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นนายกสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งนิติกรเชี่ยวชาญด้านกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขหนึ่งคนเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคเอกชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เลขาธิการสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เป็นกรรมการ ที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขซึ่งนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขแต่งตั้งหนึ่งคน เป็นกรรมการ

ให้นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขทำหน้าที่เลขาธิการ และเป็นเลขานุการคณะกรรมการ”

บุคคลดังกล่าวรวม ๑๑ คน ซึ่งได้แก่ ๑) ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ๒) นิติกรของ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ๓) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สปสธ ๔) ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส  ๕) ผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรม สบส ๖) คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ๗) ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก ๘)  นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ๙) อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ๑๐) เลขาธิการสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ๑๑) ที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข จะทำหน้าที่เป็นสภาการสาธารณสุขชุมชนในช่วงเริ่มต้น ซึ่งผมจะขอเรียกว่า กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชนตามบทเฉพาะกาล เพื่อทำหน้าที่สำคัญตามมาตรา ๕๑ กล่าวคือ

“มาตรา ๕๑ ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๕๐ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ออกระเบียบว่าด้วยการรับสมัครสมาชิกและค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก และดำเนินการรับสมัครสมาชิกภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง

(๒) ออกระเบียบว่าด้วยการเลือก การเลือกตั้ง และการแต่งตั้งบุคคลตามมาตรา ๑๖

(๓) จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา ๕๐ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเก้าสิบวันตาม (๑) เพื่ออนุมัติระเบียบ ตาม (๒)

(๔) ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการตามมาตรา ๑๓ (๒) (๕)​และ (๖) การแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๓ (๗) ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมอนุมัติระเบียบตาม (๓)

(๕) ปฏิบัติการอื่นเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ  นี้ ...”

เมื่อพิจารณาโดยสรุปจะเห็นว่ากรรมการดังกล่าวจะทำหน้าที่ ห้าประการ ตามบทบัญญัติมาตรา ๕๑ ซึ่งเป็นการรับสมัครสมาชิกและขึ้นทะเบียนสมาชิก ออกระเบียบเพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชนเพื่อได้กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชนทั้งหมดที่สมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อนับเวลาขั้นสูงทั้งหมดกระบวนการเพื่อได้มาซึ่งกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชนทั้งหมดใช้เวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันหรือหกเดือนโดยนับตั้งแต่วันที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งคณะกรรมการตามบทเฉพาะกาลครบทุกคนเรียบร้อยแล้ว  ตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก  แต่ข้อมูลในวันที่เขียนต้นฉบับยังไม่ปรากฎว่าทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้แต่งตั้งกรรมการตามบทเฉพาะกาลแล้วแต่อย่างใด แต่จนกว่าท่านจะได้อ่านข้อเขียนนี้อาจจะมีการประกาศแล้วก็ได้ แต่อย่างไรก็ดีเทื่อนับตั้งแต่วันแต่งตั้งกรรมการชุดเริ่มต้นตามบทเฉพาะกาลนี้ ต้องใช้เวลาทั้งสิ้นไม่เกินหกเดือน จากการประมาณตามนี้ก็คงประมาณกลางปีจึงจะได้กรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชนชุดสมบูรณ์ หากไม่มีเหตุการณ์อื่นที่ทำให้เงื่อนเวลาต้องคลาดเคลื่อนออกไป

บทวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นจากการตรากฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน

ตามรูปการนี้มีประเด็นที่ต้องวิเคราะห์เพื่อให้เห็นเส้นทางเดินของกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ประเด็นคือ

๑.การขึ้นทะเบียนสมาชิกที่เป็นบทบาทของคณะกรรมการชุดเริ่มแรกตามบทเฉพาะกาลนี้จะกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะสามารถขึ้นทะเบียนสมาชิกอย่างไร

๒.สถาบันการศึกษาจะต้องเตรียมการอย่างไรกับหลักสูตรที่ผลิตกำลังคนสาขานี้

๓.หน่วยงานที่เป็นผู้ใช้บัณฑิตจะต้องกำหนดเกณฑ์การรับเข้าทำงานสำหรับ

ประเด็นแรก การขึ้นทะเบียนสมาชิกในตอนเริ่มต้น

ประเด็นนี้มีหลักกฎหมายว่าผู้ขึ้นทะเบียนจะต้องมีความรู้ในวิชาชีพการสาธารณสุข โดยได้รับปริญญาหรือเทียบเท่า หรืออนุปริญญาในทางนี้ การตีความว่าปริญญาหรืออนุปริญญาใดบ้างเป็นความรู้ในวิชาชีพการสาธารณสุขเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องตัดสินใจ เป็นที่ทราบดีว่า ปริญญาหรืออนุปริญญาทางสาธารณสุขในบ้านเรามีหลากหลายมากนัก ทั้ง ประกาศนียบัตรสาธารณสุขศาสตร์ สาธารณสุขศาสตรบัณฑิต วิทยาศาสตรบัณฑิต เป็นต้น ตรงนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นจำนวนมาก ต้องชัดเจนในประเด็นนี้อย่างมาก

ประเด็นที่สอง  สถาบันการศึกษาด้านสาธารณสุข จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร

ประเด็นนี้อาจจะยังพอมีเวลา แต่อย่างไรก็ดีไม่มากนัก ด้วยเพราะเมื่อกฎหมายตราออกมาแล้ว สถาบันการศึกษาทั้งหลายต้องกลับไปทบทวนว่า หลักสูตรของตนสามารถผลิตบุคลากรที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ตามบทบาทที่กำหนดไว้ในกฎหมายวิชาชีพอย่างครบถ้วนหรือไม่ ตรงนี้จะส่งผลให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรของสถาบันการศึกษาทั้งหมดในที่สุด

ประเด็นที่สาม หน่วยงานผู้ใช้บัณฑิต ต้องปรับเปลี่ยนการรับบุคคลเข้าทำงาน

ประเด็นนี้ก็สำคัญๆพอกันว่าจะกำหนดหลักเกณฑ์การรับบุคคลเข้าทำงานนั้น จะต้องกำหนดว่าบุคคลนั้นๆได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแล้ว ด้วยหรือไม่ มิเช่นนั้นก็จะเป็นประเด็นต้องด้วยข้อห้ามของกฎหมายที่เป็นการคุ้มครองวิชาชีพไว้มิให้ผู้อื่นมาประกอบวิชาชีพนี้ หากไม่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาต

สามประเด็นที่ยกขึ้นมากล่าวในที่นี้นั้นเป็นประเด็นสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน อย่างเร่งด่วนที่สุดคือประเด็นแรกที่จะต้องตัดสินใจโดยกรรมการสภาการสาธารณสุขชุมชนชุดเริ่มแรก เป็นผลกระทบที่สำคัญที่จะเกี่ยวข้องกับการออกแบบระบบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนที่เกิดขึ้นตามกฎหมายเป็นครั้งแรกของไทย เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับบุคคล สถาบันทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ โดยมีเป้าหมายสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานวิชาชีพการสาธารณสุขขึ้นในครั้งนี้

บทสรุป

การเริ่มต้นการเป็นวิชาชีพโดยการผลักดันกฎหมายให้มีกฎหมายวิชาชีพ แม้เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องยากเย็นและใช้ความอดทนและเพียรพยายามอย่างมาก   แต่การที่จะออกแบบระบบการจัดการวิชาชีพเป็นเรื่องที่สำคัญและยากไม่น้อยกว่ากันเลย พวกเราชาวหมออนามัยส่วนใหญ่ย่อมได้ผลไม่ว่าเป็นทางตรงหรือทางอ้อมต่อการตรากฎหมายครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องสนใจและเข้าใจ ควรติดตามด้วยสติและมีข้อมูลที่ถูกต้องโดยไม่ตื่นตระหนก และก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตามเจตนารมณ์ของการตรากฎหมายได้อย่างถูกต้องและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน  ต้องติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องและใช้ปัญญาเพื่อเข้าใจเรื่องราวอย่างถูกต้องครับ

ผู้เขียน : สงครามชัย  ลีทองดี songkramchai@gmail.com