ในที่สุดรัฐสภาก็ผ่านความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ. วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายวิชาชีพของนักสาธารณสุข โดยในขั้นตอนสุดท้ายคือการผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวโดยสภาผู้แทนราษฎรในคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2556 โดยเห็นชอบ 382 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง หากพิจารณาตามนัยแล้วจะเห็นว่าได้รับการเห็นชอบอย่างท่วมท้นจากทั้งสองสภา ดังจะเห็นได้จากการเห็นชอบของวุฒิสภาก่อนหน้านี้ ในวันที่ 9 กันยายน 2556 ที่ให้ความเห็นชอบ 116 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นกฎหมายที่สมาชิกรัฐสภาผ่านการเห็นชอบจนเกือบจะทั้งหมด
นัยยะตรงนี้แสดงให้เห็นถึง ความพยายามในการต่อสู้ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบรรลุเป้าหมายปลายทางที่กว่าจะฟันฝ่ามาจนถึงตรงนี้ได้ ก็เป็นระยะเวลาเกือบยี่สิบปีนับตั้งแต่การเปิดประเด็นเรื่องนี้ในวารสารหมออนามัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และหากเป็นความพยายามด้านอื่นๆ ที่ไม่นับเพียงแต่ทรัพยากรด้านการเงิน อุปกรณ์ที่เป็นเรื่องธรรมดา ต้องยอมรับว่าเป็นความอดทน เป็นการต่อสู้ ที่สมควรจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้อีกหน้าหนึ่งในระบบสุขภาพไทยทีเดียว อย่างไรก็ดีต้องกราบขอบพระคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ร่วมมือกันทั้งทางตรงและทางอ้อมในการทำให้เกิดกฎหมายที่สำคัญสำหรับวิชาชีพการสาธารณสุขในครั้งนี้
มีคำกล่าวที่ผู้รู้ได้ให้ข้อคิดและบทเรียนอยู่เสมอว่า การก่อเกิดเป็นเรื่องที่ยาก หากแต่การดำรงอยู่กลับเป็นเรื่องที่ยากมากกว่า ดังนั้นผมมีความเห็นว่ากฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยทีเดียว หลายท่านแม้ว่าช่วงการต่อสู้จะเต็มที่เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายนั้นจะต่อสู้และลุ้นอย่างหนัก แต่ในใจก็คงมีข้อกังวลอยู่ไม่น้อยทีเดียว เช่นเดียวกับผมเองแม้ว่าได้ศึกษาเรื่องนี้มาพอสมควร ยอมรับว่าหนักใจและมองเห็นเค้าลางแห่งความยุ่งยากรออยู่สำหรับการสะสางและจัดระบบอีกมาก แต่การเปิดตัวกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่หลายฝ่าย ผมจึงคลายความกังวลลงไปบ้าง ช่วงเวลานี้เป็นช่วงการเตรียมการเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพใหม่ล่าสุดในระบบสุขภาพไทยที่จำเป็นต้องกล่าวในภาพรวมเสียก่อน ข้อเขียนในวารสารหมออนามัยครั้งนี้จึงเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันเพื่อก้าวไปเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้าใจ
เริ่มต้นอย่างไรกับกฎหมายวิชาชีพ
ข้อมูลที่จะกล่าวต่อไปนี้ ผมจะอ้างอิงจากร่างกฎหมายฉบับที่ผ่านการเห็นชอบของทั้งสองสภาเป็นหลักเพื่อชี้ให้เห็นว่าการเริ่มต้นของการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพมือใหม่ล่าสุดจะเริ่มอย่างไร อันดับแรกสุดคือการเกิดของสภาวิชาชีพ ที่เรียกชื่อตามกฎหมายว่า “สภาการสาธารณสุขชุมชน” หากพิจารณาตามความในมาตรา 50 ในร่างกฎหมายว่าไว้ดังนี้
“มาตรา๕๐ ในระยะเริ่มแรกที่ยังไม่เลือกกรรมการ..ให้กรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นนายกสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งนิติกรเชี่ยวชาญด้านกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขหนึ่งคนเป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้อำนวยการกองสนับสนุนสุขภาพภาคเอกชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เลขาธิการสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เป็นกรรมการ ที่ปรึกษาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขซึ่งนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขแต่งตั้งหนึ่งคน เป็นกรรมการ
ให้นายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขทำหน้าที่เลขาธิการ และเป็นเลขานุการคณะกรรมการ”
บุคคลดังกล่าวรวม 11 คน จะทำหน้าที่เป็นสภาการสาธารณสุขชุมชนเฉพาะกิจ เพื่อทำหน้าที่สำคัญตามมาตรา 51 กล่าวคือ
“มาตรา ๕๑ ให้คณะกรรมการตามมาตรา ๕๐ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ออกระเบียบว่าด้วยการรับสมัครสมาชิกและค่าขึ้นทะเบียนสมาชิก และดำเนินการรับสมัครสมาชิกภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง
(๒) ออกระเบียบว่าด้วยการเลือก การเลือกตั้ง และการแต่งตั้งบุคคลตามมาตรา ๑๖
(๓) จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการตามมาตรา ๕๐ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดเก้าสิบวันตาม (๑) เพื่ออนุมัติระเบียบ ตาม (๒)
(๔) ดำเนินการให้ได้มาซึ่งกรรมการตามมาตรา ๑๓ (๒) (๕)และ (๖) การแต่งตั้งกรรมการตามมาตรา ๑๓ (๗) ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมอนุมัติระเบียบตาม (๓)
(๕) ปฏิบัติการอื่นเท่าที่จำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ นี้ ...”
เมื่อพิจารณาโดยสรุปจะเห็นว่ากรรมการดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการรับสมัครสมาชิกและขึ้นทะเบียนสมาชิก ออกระเบียบเพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชนให้แล้วเสร็จภายในกำหนดซึ่งดูแล้วภายในแปดเดือนนับตั้งแต่มีการแต่งตั้งกรรมการดังกล่าว ตรงนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก
อำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพ
สภาการสาธารณสุขชุมชนเมื่อเกิดขึ้น โดยสภาชุดเฉพาะกิจได้จัดให้มีขึ้นแล้วจึงจะทำมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7 กล่าวคือ
“มาตรา ๗ สภาการสาธารณสุขชุมชนมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) รับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน
(๒) ออกคำสั่งตามมาตรา ๓๙ วรรคสี่ (เกี่ยวกับการวินิจฉัยเมื่อสอบสวน)
(๓) ให้ความเห็นชอบหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนในระดับอุดมศึกษาของสถาบันการศึกษาที่จะทำการสอนวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เพื่อเสนอต่อ สกอ.
(๔) รับรองปริญญา ประกาศนียบัตรเทียบเท่าปริญญา อนุปริญญา ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตรในวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนของสถาบันต่างๆเพื่อประโยชน์ในการสมัครสมาชิก
(๕) รับรองหลักสูตรต่างๆสำหรับการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรของสถาบันที่จะทำการสอนและฝึกอบรมในวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน
(๖) รับรองวิทยฐานะของสถาบันที่ทำการสอนใน (๕)
(๗) จัดทำแผนการดำเนินงานและรายงานผลการดำเนินงานต่อสภานายกพิเศษอย่างน้อยปีละครั้ง
(๘) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาการสาธารณสุขชุมชน”
ผมยกมาตรามาอ้างแบบชัดๆเพื่อให้เห็นว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างไรและบทบาทของสภาการสาธารณสุขชุมชนมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญมาของการประกอบวิชาชีพตามหลักการทั่วไป จะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวข้องกับหลายฝ่ายอย่างมาก ทั้งผู้จะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่เป็นผู้ใช้ผู้ประกอบวิชาชีพส่วนใหญ่ และสถาบันการศึกษาในฐานะผู้ผลิต มีคำถามที่ต้องการคำตอบหลายประเด็นมาก และแน่นอนครับว่ายังไม่มีใครตอบได้ในตอนนี้ เพราะคนที่จะตอบคือสภาการสาธารณสุขชุมชนซึ่งยังไม่จัดตั้งขึ้นในตอนนี้ คำถามเหล่านั้น อาทิ
- ใครบ้างจะขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกสภาได้
- ผู้ขึ้นทะเบียนจะต้องจบปริญญาใดบ้าง และสถาบันใดบ้างที่จะขึ้นทะเบียนได้
- การขึ้นทะเบียนจะต้องสอบขึ้นทะเบียนหรือไม่
- เมื่อได้ขึ้นทะเบียนแล้วจะต้องสอบใหม่หรือไม่ หรือได้ตลอดไป
- การประกอบวิชาชีพที่มีผู้ทำหน้าที่อยู่แล้วหากบุคคลนั้นไม่สามารถขึ้นทะเบียนและได้รับในอนุญาต จะทำอย่างไรต่อไป
- ฯลฯ
คำถามเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งและเป็นสิ่งที่สภาการสาธารณสุขชุมชนที่ยังไม่เกิดอย่างสมบูรณ์ตอนนี้จะต้องตอบ เป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
บทสรุป
อย่างที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นการเกิดขึ้นของกฎหมายวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน แม้เป็นความสำเร็จแต่เป็นการเริ่มต้นเท่านั้น ดังมีคำกล่าวให้ได้ยินกันอยู่เสมอว่า ความสำเร็จขั้นหนึ่งมักจะเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการอีกอย่างหนึ่งเสมอๆ ผู้เขียนก็ได้แต่เฝ้ามองดูว่าการก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนคราวนี้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นมาตามมา เป็นเรื่องที่น่าสนใจและละเลยไปเสียไม่ได้สำหรับชาวหมออนามัยทุกคน
ผู้เขียน : สงครามชัย ลีทองดี songkramchai@gmail.com
- 280 views