แพทย์ไทยยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดีโอบามา ขอร้องมิให้ยื้อไทยเข้าเป็นสมาชิกการค้าเอเชียแปซิฟิค
นายแพทย์หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติและประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกระหว่างปี พ.ศ. 2550-51 ได้ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีโอบามา ขอร้องมิให้ชักชวนหรือบีบบังคับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลงทางการค้า หุ้นส่วนแปซิฟิค (Transpacific Partnership Agreement หรือ TPPA)
นายแพทย์หทัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 ประธานาธิบดีโอบามาได้แวะมาประเทศไทยหลังจากการไปเยือนพม่า ในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีท่านได้ออกปากเชิญไทยให้เข้าร่วมเป็นสมาขิกของข้อตกลงฯนี้ วันเดียวกับที่ท่านเดินทางออกจากไทย ท่านนายกรัฐมนตรีจีนเหวิน เจียเป่าก็ได้บินด่วนมากรุงเทพและข้าพบนายกรัฐมนตรีไทยในบ่ายวันนั้น นับเป็นจุดตัดของยุทธภูมิศาสตร์และเศรษฐภูมิศาสตร์ที่ได้เกิดในกรุงเทพมหานคร เพราะทั้งสองผู้นำได้เข้ามาชวนและห้ามไทยในเวลาใกล้เคียงกัน โอบามาเพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นวาระที่ 2 แต่เหวินกำลังจะหมดวาระการเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งดำรงตำแหน่งมานานถึงหนึ่งทศวรรษ
ประธานสถาบันฯ กล่าวว่า การเจรจาร่างข้อตกลงฯนี้ได้ดำเนินการเริ่มตั้งแต่มิถุนายน 2005 และมีประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิคทยอยเข้าเป็นสมาชิกรวมแล้ว 12 ประเทศ แต่ปรากฏว่าในกลุ่มประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนนั้นมีเพียง 4 ประเทศจากสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศที่เข้าร่วมเจรจา TPPA คือประเทศเล็กๆ เช่นบรูไน, สิงคโปร์, เวียตนามและมาเลเซีย
นายแพทย์หทัย กล่าวว่าตนและคณะได้ศึกษาข้อมูลต่างๆจากการเจรจาฯนี้ และพบว่ามีข้อกำหนดหลายเรื่องซึ่งจะทำให้การควบคุมยาสูบของประเทศเกิดความเสียหายอย่างมากคือ
1.การต้องลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบลงเหลือ 0 จะทำให้บุหรี่จากประเทศที่อยู่นอกเขตการค้าเสรี AFTA เข้ามาแข่งจำหน่ายในไทยมากขึ้น ทำให้คนไทยสูบบุหรี่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีและเด็ก
2.ในเรื่ององค์กรผู้ขาดรัฐ (State-Owned enterprises หรือ SOEs) ประเทศสมาชิกจะต้องไม่มีการสนับสนุนเป็นพิเศษแก่องค์กรผู้ขาดทางยาสูบของรัฐ ข้อนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการสนับสนุนของรัฐบาลในเรื่องต่างๆที่ให้แก่โรงงานยาสูบ
3.กลไกแก้ข้อพิพาทระหว่างผู้ลงทุนกับรัฐ (Investor-States Dispute Settlement (ISDS) คือบริษัทบุหรี่สามารถฟ้องรัฐบาลของประเทศที่บริษัทนั้นมีกิจการอยู่ ที่แล้วมาหากบริษัทบุหรี่จะฟ้องประเทศ บริษัทนั้นจะต้องเสนอให้รัฐบาลของตนพิจารณา หากเห็นควรฟ้องก็ต้องรัฐบาลเป็นผู้ฟ้องรัฐบาลโดยฟ้องผ่านองค์การค้าโลก ในกรณี TPP บริษัทบุหรี่สามารถฟ้องรัฐบาลโดยตรงได้ การตัดสินข้อพิพาทจะทำโดยศาลยุติธรรมนานาชาติและการตัดสินจะสั่งให้มีการแก้ไขกฎหมายของประเทศเจ้าของบ้านได้
- 2 views