นักโภชนาการระบุต่างจังหวัดน่าห่วงช่วงฤดูร้อน หาแหล่งน้ำดิบสะอาดผลิตน้ำดื่มยาก ชี้แม้จะผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพน้ำก็ยังเสี่ยง ด้านน้ำดื่มต้องต้มให้เดือดป้องกันจุลินทรีย์ เหตุเติบโตในหน้านี้เร็วกว่าปกติ ช่วยป้องกันโรคทางเดินอาหาร
รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ กล่าวว่า น้ำในการบริโภคมีความสำคัญเป็นอันดับแรก อันดับต่อมาคือน้ำใช้ และน้ำเพื่อเพาะปลูก โดยน้ำดื่มจะใช้น้อยที่สุดเพียงวันละ 1-2 ลิตรเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันกระบวนการผลิตน้ำดื่มของไทยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนสถานการณ์การขาดแคลนน้ำดื่มนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ โดยในพื้นที่เมืองอาจมีปัญหาน้อยกว่า เพราะกระบวนการผลิตน้ำประปามีการใส่คลอลีนในระดับที่เหมาะสม เมื่อผ่านเครื่องกรองทั่วไปก็สามารถใช้ดื่มได้ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดพบว่าปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่คุณภาพของน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำดื่ม โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนบางพื้นที่เกิดความแล้งขึ้น ทำให้หาแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีได้ยาก โดยแหล่งน้ำใต้ดินถือเป็นแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพคงที่มากกว่า น้ำดิบที่อยู่บนผิวดิน ซึ่งมีความแปรผันตามธรรมชาติสูง และมีโอกาสที่เชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนได้มากกว่า แม้ว่าจะนำมาผ่านกระบวนปรับปรุงคุณภาพน้ำก็ยังเสี่ยงอยู่
“พื้นที่ชุมชนต่างๆ และโรงเรียน ขณะนี้ได้รับการอบรมจากภาครัฐและมหาวิทยาลัย ในการผลิตน้ำประปา และมีเครื่องกรองสำหรับใช้ทำน้ำดื่ม สิ่งที่ควรระวังคือ การเลือกใช้น้ำดิบที่มีคุณภาพ เช่น ไม่มีกลิ่น หรือ สีแปลกๆ เติมคลอรีนในปริมาณที่เหมาะสม และน้ำดื่ม ควรต้มน้ำให้เดือด เพื่อป้องกันจุลินทรีย์ ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเพื่อป้องกันโรคในทางเดินอาหาร แม้ว่าจะผ่านกระบวนการกรองน้ำแล้ว แต่บางครั้งการกรองก็ไม่สามารถดักจับเชื้อจุลินทรีย์ได้หมด โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เชื้อจุลินทรีย์จะเติบโตเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ ควรล้างไส้กรองให้อยู่ในสภาพดีอยู่ตลอดเวลาด้วย” รศ.ดร.วิสิฐ กล่าว
รศ.ดร.วิสิฐ กล่าวถึงกรณีการประปาประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงจนเข้ามาในแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา ว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเกือบทุกปี มากบ้างน้อยบ้าง แต่การประปาจะมีมาตรการควบคุมคุณภาพน้ำประปาที่ได้มาตรฐาน ซึ่งทำให้คุณภาพน้ำประปายังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่อาจต้องเพิ่มกระบวนการผลิตซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้น โดยน้ำดิบที่มีน้ำทะเลเข้ามาปนนั้นจนทำให้เกิดรสชาติแปร่งๆ นั้น เกิดจากโซเดียมคลอไรด์ที่อยู่ในน้ำทะเล แต่ปริมาณที่พบนั้นยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและไม่ได้เป็นอันตราย เพราะน้อยกว่าปริมาณโซเดียมที่อยู่ในอาหารที่บริโภคตามปกติ
- 34 views