แผนงานวิจัยนโยบายอาหารฯ จับมือสสส. จี้ประเทศอาเซียน  คุมน้ำตาลในเครื่องดื่มภาวะอาหารล้นทะลัก แนะดันนโยบายเพิ่มภาษีอาหารไร้คุณค่า ทั้งน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบ โซเดียมสูง โดยเฉพาะน้ำตาล นักวิจัยเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานเผย ไทยบริโภคน้ำตาลสูงสุด 1 ใน 5 ประเทศอาเซียนเสี่ยงโรคอ้วน-หัวใจล้มเหลว

แผนงานวิจัยอาหารและโภชนาการเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ (FHP) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศจึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ ได้จัดการประชุมประจำปีครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ "การจัดการปัญหาพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนประเทศไทยพร้อมหรือยัง" นำโดยนพ.ภูษิต ประคองสาย ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศเป็นประธาน ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการหารือร่วมกันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมและหาแนวทางแก้ไขพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมของคนไทยก่อนที่จะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นพ.ภูษิต ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายฯ กล่าวว่า ตลอดช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากสังคมเกษตรไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ส่งผลให้ประเทศมีอาหารบริโภคมากเกินความต้องการ ในขณะที่พฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนไทยพบว่า มีพฤติกรรมการบริโภคข้าวน้อยลง แต่ไปบริโภคอาหารประเภทเนื้อสัตว์และน้ำตาลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบด้านโภชนาการของคนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเกิดโรคอ้วน จึงมีความจำเป็นต้องมีการหารือเพื่อเป็นแนวทางในการขจัดพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องก่อนที่จะก้าวเข้าสู่อาเซียน

"การเข้าสู่อาเซียนจำเป็นต้องมองเรื่องอาหารและโภชนาการเป็นสำคัญ เพื่อจัดการกับอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอาหารอย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งลดความเสี่ยงจากโรคที่เกิดจากอาหาร ซึ่งการวิจัยและการพัฒนาอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายระหว่างประเทศต้องมีการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการบูรณาการ ร่วมกัน"

ดร.เดวิท สตัคเลอร์ นักวิชาการจาก มหาวิทยาลัยเคมบริช ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของประเทศอังกฤษ ซึ่งประสบปัญหาโภชนาการเกินพบว่า ในช่วงก่อนหน้าที่จะมีมาตรการป้องกันสุขภาพของประชาชน  ประชากรวัยผู้ใหญ่ 2 ใน 3 อ้วนและป่วยด้วยโรคเบาหวาน และ 1 ใน 4 ตายก่อนวัย 65 ปี เนื่องจากสาเหตุทุพโภชนาการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขทั้งระบบ โดยประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากบทเรียนที่ผิดพลาดนั้นได้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ซึ่งจะต้องพบความท้าทายจากอุตสาหกรรมอาหารอย่างมาก โดยเปรียบเทียบได้กับการอุตสาหกรรมบุหรี่ที่มักใช้กลยุทธ์ต่างๆ เพื่อขยายตลาด เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาถือเป็นตลาดที่สำคัญในการขยายตลาดที่สำคัญ

"การวิจัยทำให้พบว่า ประเทศใดที่มีประชากรสูบบุหรี่มากก็จะพบประชากรดื่มเหล้ามาก และประเทศใดมีประชากรดื่มน้ำอัดลมมาก ก็จะพบประชากรอ้วนมากขึ้น  ซึ่งการเปิดการค้าเสรีจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคได้ด้วย เช่น พบว่าประเทศเม็กซิโก ดื่มน้ำอัดลม 250 ลิตรต่อคนต่อปี และมีอัตราการดื่มรองจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเปิดการค้าเสรีพบการดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 40-50 ทำให้มีอัตราเด็กอ้วนเพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นต้น ดังนั้นการวางแผนนโยบายเพื่อป้องกันเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ"ดร.เดวิท กล่าว

ดันเก็บภาษีน้ำตาลเพิ่ม

ด้านรศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถานบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกินอาเซียน ควรมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยของอาหารการสร้างมาตรฐานโภชนาการจึงมีความจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลทางอาหารในประเทศอาเซียน เช่น สร้างค่ามาตรฐานไอโอดีน ค่าโซเดียม ค่าไขมันอิ่มตัว เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการเก็บข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์ของแต่ละประเทศมีค่าโภชนาการอาหารแต่ละประเภทอย่างไร แม้ว่าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) จากประเทศที่สูงและต่ำที่สุดถึง 50 เท่า แต่มีแนวโน้มของประชากรคล้ายกันคือประชากรสูงอายุมากขึ้น ประชากรวัยแรงงานต่ำลง จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือในการรวมตัวเพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง

"ปัจจุบันแนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยนิยมบริโภคอาหารประเภททอด หวาน มัน เค็ม เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีการดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ และขนมขบเคี้ยวเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาโภชนาการเกิน และเป็นอาหารที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคล้นทะลักอีกด้วย ทั้งนี้การที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวสู่อาเซียน อาหารจากประเทศเพื่อนบ้านจะทะลักเข้ามาอีกในขณะที่ราคากลับมีแนวโน้มถูกลง ส่งผลให้ประชาชนบริโภคอาหารมากขึ้นและอยู่บนภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนมากขึ้นตามไปด้วย"ร.ศ.ดร.วิสิฐกล่าว

นอกจากนี้ ในขณะที่หลายประเทศเริ่มเก็บภาษีตามคุณค่าของอาหาร เช่น น้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบเกลือ ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาลในชา กาแฟหรือน้ำหวานที่มีปริมาณมากกว่าค่ามาตรฐานก็จะต้องเสียภาษีมากขึ้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่เข้ามามีส่วนช่วยขจัดสภาวะโภชนาเกินของ คนไทย

ในขณะที่นโยบายด้านราคาและภาษีเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการลดพฤติกรรมการบริโภคอาหารดร.บัญชร ส่งสัมพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การหันมาใช้นโยบายเพิ่มภาษีในสินค้าที่ไร้คุณค่าทางโภชนาการ ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณค่า โดยเฉพาะสินค้าประเภทน้ำตาลซึ่งถือเป็นอาหารที่ไม่มีความจำเป็นต่อร่างกายและยังเป็นส่วนผสมสำคัญของน้ำอัดลมและชากาแฟซึ่งมีส่วนทำลายสุขภาพและเป็น บ่อเกิดที่สำคัญของโรคอ้วน อย่างไรก็ตามหากมีการออกฎหมายเพิ่มภาษีน้ำตาลที่เป็นรูปธรรม ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารอาจจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากน้ำตาลมีส่วนผสมอยู่ในอาหารเกือบทุกประเภท ซึ่งการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานในการตรวจสอบคุณภาพของน้ำตาลด้วยและปริมาณของน้ำตาลเพื่อนำมาช่วยในการคิดคำนวณอัตราการเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย"ดร.บัญชรกล่าว

ชี้ 30 ปีคนไทยกินน้ำตาลเพิ่ม3เท่า

ด้าน ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ นักวิจัยเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวถึงมาตรการการเก็บภาษีน้ำตาลว่า มาตรการเพิ่มภาษีไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากเป็นนโยบายที่มีความเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อบุคคลหลายฝ่าย อย่างไรก็ตามหากมาตรการเพิ่มภาษีสามารถทำได้จริง การบริโภคน้ำตาลของประชาชนก็จะลดลงและมีส่วนช่วยในการลดภาวะโรคอ้วน ซึ่งสอดคล้องกับรายงานการวิจัยที่พบว่า กว่า 30 ที่ผ่านมาคนไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มเป็น 3 เท่า และจากการเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และสิงค์โปร ประเทศไทยบริโภคเป็นบริโภคน้ำตาลสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งนอกจากโรคอ้วนแล้วน้ำตาลก็ยังเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคหัวใจร่วมด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 มกราคม 2556