เผยความสำเร็จเครือข่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอาเซียนบวกสาม หลังไทยถูกเลือกเป็นแกนนำผลักดันประเทศในอาเซียนบวกสามบรรลุเป้าหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สานต่อทั้งเวทีภูมิภาคและระดับโลก แต่ยอมรับช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาไทยถูกติงทำกิจกรรมน้อยไป เหตุเลขาธิการ สปสช.ถูกคำสั่งย้าย ส่งผลการทำหน้าที่ประธานเครือข่ายสะดุด ขับเคลื่อนไม่คืบ
นพ.ภูษิต ประคองสาย
นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักการสาธารณสุขระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงาน “อาเซียนบวกสามด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (ASEAN Plus three UHC Network) ว่า เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศในประชาคมอาเซียน กับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งที่ประชุมเมื่อปี 2557 ได้มีมติเลือกประเทศไทยเป็นประธานเครือข่ายฯ โดยมี นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานคนแรก ซึ่งเครือข่ายนี้เกิดจากความสนใจเรื่องเป้าหมายการสร้างและบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของแต่ละประเทศอาเซียน ซึ่งไทยมีจุดแข็งเรื่องระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง และได้รับการยอมรับว่าเป็นต้นแบบของประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถทำให้ประชาชนทุกคนบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าและสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีความจำเป็นได้ โดยไม่มีกำแพงค่าใช้จ่ายสำหรับค่าบริการสุขภาพ
นพ.ภูษิต กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ภายในประเทศไทยจะยังมีความเห็นที่แตกต่างเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ในฐานะประเทศประธานเครือข่ายฯ ก็สามารถทำให้แต่ละประเทศในอาเซียนบวกสามมีเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันและมีความสนใจที่จะใช้การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศ และมีเป้าหมายร่วมที่จะทำให้ประเทศของตนบรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในระยะที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาของระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ นอกจากนี้ยังมีการอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งมีหลายประเทศในภูมิภาคที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาทิ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว และพม่า เป็นต้น จึงจำเป็นต้องร่วมผลักดันเพื่อไปถึงเป้าหมายร่วมกัน
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าเป็นโอกาสที่ไทยได้แสดงบทบาทสำคัญในเวทีภูมิภาคและระดับโลกในฐานะประธานเครือข่ายฯ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านการพัฒนาสุขภาพ (ASEAN Senior Officials Meeting on Health Development (SOMHD) ครั้งที่ 10 เมืองดาลัด เวียดนาม ผู้แทนเวียดนามและมาเลเซียได้แสดงความเห็นว่า การผลักดันของไทยในฐานะเจ้าภาพยังไม่เพียงพอและน่าจะมีการดำเนินกิจกรรมมากกว่านี้” นพ.ภูษิต กล่าวและว่า ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ นพ.วินัย เลขาธิการ สปสช. ถูกคำสั่งย้ายชั่วคราว ทำให้การดำเนินงานในฐานะประธานเครือข่ายฯ ต้องสะดุดลง ขาดความต่อเนื่องในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ไทยเสียโอกาสแสดงศักยภาพด้านนี้
นพ.ภูษิต กล่าวต่อว่า การดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ และได้รับการตอบรับด้วยดีแม้ว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลในสถานการณ์ปกติ แต่เนื่องจากในระดับภูมิภาคอาเซียนนี้ ไทยมีจุดแข็งที่โดดเด่นเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าเพื่อประชาชน และการป้องกันรับมือกับโรคระบาดที่เข้มแข็ง จึงได้รับการยอมรับ และความสำเร็จนี้ได้นำไปสู่ความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น เป็นแกนนำพัฒนาระบบการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาค ซึ่งนอกจากการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (LTOP) และการรับมือภัยพิบัติ (disaster risk reduction) แล้ว การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ไทยและญี่ปุ่นได้จับมือร่วมกันในเวทีการพัฒนาสุขภาพระหว่างประเทศและในเวทีระดับโลกอีกด้วย
- 26 views