ประชาชาติธุรกิจ - ธุรกิจร.พ.เอกชนหงอย ต่างชาติ กังวลม็อบ-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยกเลิกบินมา ใช้บริการ เวชธานี-ยันฮี-กรุงเทพรอจังหวะลงทุนใหม่ หวั่นการเมืองยืดเยื้อ คนไข้หนีไปสิงคโปร์ ด้านตลาดในประเทศ กำลังซื้อหด คนไทยประหยัดเงินหันใช้บริการประกันสุขภาพเพียบ สถานการณ์การเมืองที่ยังคงไม่นิ่งและลากยาวมาหลายเดือน รวมถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินของรัฐบาล ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน หนึ่งในนั้นเป็นธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 30%
นายชาคริต ศึกษากิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวชธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ธุรกิจเฮลท์แคร์ระยะยาวยังมีแนวโน้มที่ดี ในแง่ที่ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ แต่จาก สถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลต่อความเชื่อมั่น คนไข้ต่างประเทศที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย ประเมินว่าชาวต่างชาติ ที่เข้ามาใช้บริการลดลงประมาณ 30%
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดีขึ้นเชื่อว่าจะกลับมาใช้บริการตามปกติ เพราะ เฮลท์แคร์ของไทยเป็นที่ยอมรับในแง่ของคุณภาพการรักษาและบริการ บวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนตัว ทำให้ค่ารักษาถูกลง เป็นอีกปัจจัยกระตุ้น แต่หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อไปอีก 1-2 เดือน คนไข้ต่างประเทศอาจเปลี่ยนไปใช้บริการประเทศอื่น ๆ อาทิ อินเดีย เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่ต่างผลักดันนโยบาย "เมดิคอลฮับ" หรือการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์
ขณะที่ตลาดในประเทศก็ได้รับผลกระทบ จากกำลังซื้อที่หายไป โดยพฤติกรรมขณะนี้ คนประหยัดค่าใช้จ่ายและหันไปเลือกใช้สิทธิ์ประกันสุขภาพที่มีอยู่ อาทิ ประกันสังคม, ประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท และประกันสุขภาพเอกชน เป็นต้น
ส่งผลให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนปีนี้จะขยายตัวไม่เกิน 3% ปกติจะเติบโตสอดคล้องไปกับจีดีพี สังเกตว่าการแข่งขันค่อนข้างเงียบ ขณะนี้ทุกค่ายเน้นประคองธุรกิจ รัดเข็มขัด รักษาฐานคนไข้เดิม และลดใช้งบฯโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ จึงระมัดระวังการลงทุน
"ปีนี้เป็นปีที่ท้าทายและเหนื่อยขึ้น ตลาดสุขภาพและความงามปีนี้ดูเงียบเหงา สังเกตจากไม่ค่อยเห็นการใช้สื่อโฆษณาโทรทัศน์ หลัก ๆ มาจากมู้ดของคนที่มีความกังวล"
สำหรับเวชธานีพบว่าตัวเลขคนไข้ ต่างประเทศลดลงตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว และหายไปอย่างมากหลังจากที่มี การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยและมองว่าไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าองค์กรและจากตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นลูกค้าหลักหายไปมากกว่า 50% ขณะที่กลุ่มอาเซียนและจีนหายไป 20% ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ต้องการการรักษาไม่เร่งด่วน
"เราตั้งอยู่ย่านลาดพร้าว ช่วงที่มีการชุมนุมปิดถนนลาดพร้าวไม่ได้รับผลกระทบ เพราะพยายามประชาสัมพันธ์ให้ต่างชาติ รู้ว่าไม่ได้อยู่ในพื้นที่ชุมนุม ทำให้ยังมีลูกค้าทั่วไปเข้ามา แต่ลูกค้าองค์กรหายไป เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศกังวลความปลอดภัย"
ในส่วนแผนลงทุนยังเหมือนเดิม แต่จะชะลอไว้ก่อนเพื่อรอสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ขณะนี้เน้นปรับปรุงกระบวนการภายใน อบรมบุคลากร และบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุน ส่วนเป้าหมายตั้งไว้ 13-15% มากกว่าปีที่แล้วที่เติบโต 10% อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยืดเยื้อก็จะทบทวนอีกครั้ง
สอดคล้องกับ น.พ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮียอมรับว่า ลูกค้าต่างประเทศมีความกังวลเรื่องความปลอดภัย ทำให้ไม่กล้าเดินทางเข้ามา เริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ธันวาคม ปีที่แล้ว มีลูกค้ายกเลิกนัดโดยไม่มีกำหนดถึง 50% ต่อเนื่องถึงเดือนมกราคมปีนี้ ซึ่งตัวเลขขยับขึ้นเป็น 90% ส่วนใหญ่มาจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน อเมริกา เวียดนาม แต่ยังเชื่อว่าไทยมีชื่อเสียงด้านบริการ และราคายังเป็นจุดแข็ง แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อก็อาจจะส่งผลต่อการเติบโตในปีนี้
"แผนตลาดต่างประเทศคงทำอะไรไม่ได้มาก เพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่น จึงหันมาเน้นทำตลาดในประเทศ ส่วนแผนลงทุนชะลอไว้ก่อน แต่ยังขยายและปรับปรุงแผนกต่าง ๆ ภายในให้ครบวงจร ทั้งศัลยกรรมตกแต่ง ทันตกรรม ทุกปีตั้งเป้าโต 10-15% แต่ปีนี้อาจจะไม่ถึงเป้าที่วางไว้"
ก่อนหน้านี้ น.พ.ชาตรี ดวงเนตร กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประธาน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-การแพทย์ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)และประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพกล่าวว่า ปีนี้เน้นระมัดระวังการลงทุนในแง่การเปิดสาขาใหม่ และการซื้อกิจการ แต่มองว่าธุรกิจโรงพยาบาล ยังมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก ปัจจัยสนับสนุนคือ ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และโอกาสขยายฐานลูกค้าต่างประเทศ ซึ่งสนใจเข้ามา รักษาพยาบาลในไทย
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่ดูแลคนไข้ต่างชาติได้รับผลกระทบจากจำนวนคนไข้น้อยลง ในส่วนกลุ่มโรงพยาบาล กรุงเทพพบว่าปริมาณคนไข้ต่างชาติลดลงบ้าง แต่ยังมีบางส่วนที่เดินทางเข้ามา แต่หันไปใช้ บริการตามสาขาต่างจังหวัด อาทิ พัทยา ภูเก็ต หัวหิน เป็นต้น ทั้งนี้มองว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่มีเครือข่ายและให้บริการอยู่ในกรุงเทพฯจะทำธุรกิจค่อนข้างลำบาก
"คนไข้ต่างชาติบินไปสิงคโปร์จำนวนมาก ส่วนคนไทยถ้าไม่มีอาการหนักก็ยังไม่ไป โรงพยาบาล กลุ่มเช็กอัพตรวจสุขภาพ รักษาสิว อะไรที่รอได้ก็รอ บริษัทต่าง ๆ ก็ระมัดระวังการใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับพนักงาน หันไปใช้บริการประกันสังคม"
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 - 23 ก.พ. 2557--
- 11 views