บ้านเมือง - นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายในการเปิดงานสัมมนาเรื่อง "วางแผนก่อนแก่ ดูแลชีวิตก่อนตาย" ซึ่งจัดโดยสำนักคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันชีวิตไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) ว่า ในภาวะที่โครงสร้างของประชากรส่วนใหญ่กำลังเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ทุกภาคส่วนควรเตรียมรับมือกับปัญหาและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งภาครัฐได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ "การเตรียมความพร้อมสังคมไทยสู่สังคมผู้สูงอายุ" เพื่อเป็นการรองรับและเตรียมความพร้อมให้กับผู้สูงวัย
"การเตรียมความพร้อมให้กับวัยผู้สูงอายุในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์หลักของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 และ 11 ทั้งนี้ในปัจจุบันพบว่าผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ 3 ประการ คือ ปัญหาด้านสุขภาพจากความเสื่อมถอยของร่างกาย ปัญหาด้านการเงินจากการสูญเสียรายได้ที่เคยได้รับจากการทำงาน และปัญหาด้านสังคม เนื่องจากผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงประชากรวัยแรงงานในครอบครัวเพิ่มขึ้น" นายรังสรรค์ กล่าว
อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพจึงควรมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ในช่วงวัยทำงาน โดยเริ่มจากการวางแผนทางการเงินและการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตหลังเกษียณ การมีแผนรองรับสำหรับการจัดการด้านสุขภาพ และการรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะเดียวกันต้องมีการส่งเสริมบทบาทของผู้สูงอายุโดยการนำศักยภาพ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญมาสร้างประโยชน์ให้เกิดสูงสุด
น.ส.วราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการ สำนักคณะกรรมการการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ภาพรวมผู้สูงอายุในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยจากการที่ประชากรมีการดูแลสุขภาพ การรักษาพยาบาลจากสถานพยาบาลที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เชื่อว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการวางแผนในวัยหลังเกษียณน้อยมาก
"ปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก อัตราการเกิดที่ลดลง รวมถึงความเจริญก้าวหน้าด้านสาธารณสุข ทำให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศมีอายุยืนยาวขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า อายุเฉลี่ยในผู้หญิงเท่ากับ 74.5 ปี และผู้ชายเท่ากับ 69.9 ปี นอกจากนี้จำนวนผู้สูงอายุยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 6.8% ในปี 2537 เป็น 12.2% ในปี 2554 และคาดการณ์ว่าในปี 2573 จำนวนผู้สูงอายุ จะเพิ่มขึ้นเป็น 25% หรือเท่ากับประชากร 1 ใน 4 ของประเทศ" น.ส.วราวรรณ กล่าว
สำหรับช่วงอายุผู้สูงอายุในทางประกันชีวิต จะเริ่มตั้งแต่อายุ 55-60 ปีเป็นต้นไป ซึ่งจากข้อมูลของ คปภ. ระบุว่า ปัจจุบันมีแผนประกันที่สามารถรองรับผู้สูงอายุ หรือวัยหลังเกษียณ เช่น แบบประกันแบบบำนาญ ซึ่งจะมีการเก็บออมเงิน ความคุ้มครองในชีวิต ซึ่งจากสถิติผู้สูงอายุมีการทำประกันแบบบำนาญไว้น้อยมากไม่ถึง 10% ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีการทำประกันชีวิตในอัตราที่สูงมากกว่าประเทศไทย
น.ส.วราวรรณ กล่าวว่า ธุรกิจประกันชีวิตนั้นได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะว่าผู้ซื้อประกันตัดสินใจซื้อประกันตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี และส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อประกันระยะยาวมากกว่า ภาพรวมธุรกิจประกันปีนี้ จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18 เพราะประชาชนให้ความสำคัญกับการประกันชีวิต และการออมในระยะยาวกันมากขึ้น
ส่วนธุรกิจประกันภัยบรรดาห้างร้านต่างๆ ซื้อประกันภัยก่อนหน้านี้แล้ว จึงไม่มีรายใดเข้ามาซื้อประกันภัยจากการจลาจลในขณะนี้ เนื่องจากเบี้ยประกันจะมีระดับสูงมากขึ้น เพราะว่าบริษัทประกันภัยต้องประเมินความเสี่ยงใหม่
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557
- 17 views