คสช.ขานรับ"คลัง"เสนอเก็บภาษี"ชาเขียว-กาแฟ-เครื่องดื่มผสมน้ำตาล" ระบุเป็นเครื่องดื่มทำลายสุขภาพ คาดสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี พร้อมเตรียมเสนอลดสิทธิประโยชน์ภาษีลงทุนในบีโอไอ "ตัน"หวั่นกระทบต้นทุน เสนอจัดเก็บ 111 รายการไม่มียกเว้น กระทรวงการคลังเสนอแผนการจัดเก็บภาษีหลายรายการ ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณา ซึ่งนอกจากนี้เสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก ยังเตรียมเสนอเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ เช่น กาแฟ ชาเขียว และเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลจำนวนมาก โดยคสช.เห็นด้วยและมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง ได้นำแผน การจัดเก็บภาษีสินค้าตัวใหม่ๆ มาปัดฝุ่นเสนอคสช.พิจารณา ซึ่ง คสช.ตอบรับแล้ว ส่วนขั้นตอนต่อไป ต้องเสนอให้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด
สำหรับภาษีเครื่องดื่มนั้น ยังมีสินค้าอีกหลายตัวที่เรายังไม่ได้จัดเก็บภาษี เช่น ชนิดที่ใส่น้ำตาลจำนวนมาก ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ช่วยส่งเสริมรายได้เกษตรกรอย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง
"ได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตไปศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่ม ในตู้แช่ที่วางจำหน่ายตามร้านค้าปลีกทั่วไป เพื่อให้ทุกรายเสียภาษีเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรม หากรายการใดที่ยังไม่เสียภาษี ก็ควรมีการจัดเก็บให้เท่าเทียม เช่น ชาเขียว หากมีกรรมวิธีการ ผลิตและรูปแบบสินค้าเหมือนเครื่องดื่มอื่นก็ควรเสียภาษีให้เท่ากัน"
คาดจัดเก็บภาษีชาเขียว20%
ปัจจุบันกรมสรรพสามิต จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มบางรายการ ซึ่งเครื่องดื่มที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ยกเว้น ประกอบด้วย โซดาในอัตรา 25% ของราคา หรือ 0.77 บาทต่อ 440 ซีซี. เครื่องดื่มทั่วไป เช่น น้ำอัดลม เก็บ 20% ของราคา หรือ 0.77 บาทต่อ 400 ซีซี. เครื่องดื่มทั่วไป จัดเก็บที่ 20% ของราคาหน้าโรงงาน หรือ 0.37 บาทต่อ 440 ซีซี เครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ทั่วไปจัดเก็บที่ 20% หรือ 0.37 บาทต่อ 440 ซีซี และเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ที่มีส่วนผสมตามที่กรมฯกำหนด จะได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งกรณีของชาเขียวและกาแฟ ก็ถูกจัดอยู่ในประเภทนี้ เป็นต้น
แต่ภาษีบางรายการที่เดิมไม่ทำการจัดเก็บ เช่น ภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มชาเขียว ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นจึงจะพิจารณาเสนอ คสช.ว่า สินค้าประเภทนี้ไม่เข้าเงื่อนไขการได้รับการยกเว้นภาษีอีกต่อไป
จากเดิมมีการยกเว้นไม่มีการจัดเก็บภาษีชาเขียว เนื่องจากเห็นว่า เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกใบชา แต่ในความเป็นจริงจากการศึกษาของกระทรวงการคลัง และองค์การอาหารและยา (อย.) พิสูจน์ส่วนผสมของชาเขียวทั้งหมดแล้ว พบว่า มีส่วนผสมของใบชาน้อยมาก จึงกำลังพิจารณาว่า จะเก็บภาษีเครื่องดื่มชาเขียวที่อัตรา 10% หรือ 20% ของมูลค่า ซึ่งการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มชาเขียวสามารถออกเป็นประกาศกรมสรรพสามิต ให้สามารถจัดเก็บได้เลย หากเก็บในอัตรา 20% จะได้รายได้รวม 3 พันล้านบาทต่อปี
เก็บภาษีได้ไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านต่อปี
ทั้งนี้กรมสรรพสามิต ศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มชนิดชาเขียวและกาแฟ ซึ่งมีส่วนผสมของคาเฟอีนและน้ำตาลอยู่ จำนวนมากมานานแล้ว ในทางสาธารณสุข มองว่า ส่วนผสมที่มีน้ำตาลจำนวนมาก ทำลายสุขภาพ ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ถือว่าร้ายแรงเทียบเท่ากับโรคเอดส์ ซึ่งในต่างประเทศได้รณรงค์ให้ลดการดื่มเครื่องดื่มประเภทนี้ พร้อมทั้งจัดเก็บภาษี
หาก คสช. อนุมัติให้มีการจัดเก็บภาษีสินค้าประเภทดังกล่าว โดยคิดจากอัตราการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มทั่วไปคำนวณกับยอดการจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทดังกล่าวต่อปีแล้ว กรมฯจะจัดเก็บภาษีได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี
ชงลดสิทธิประโยชน์ภาษีบีโอไอ
ทั้งนี้ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวระหว่างปาฐกถาหัวข้อ "การผลักดันเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง สู้เป้าหมายจีดีพีมากกว่า 2%" ในงานสัมมนา "อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤติการเมือง" วานนี้ (31 ก.ค.) ว่า นอกจากการจัดเก็บภาษี ตัวใหม่แล้ว กระทรวงการคลังยังมีแนวคิด ที่จะลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการส่งเสริมการลงทุนในบีโอไอด้วย เพราะเห็นว่า ปัจจุบันเราได้ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงมาอยู่ในอัตรา 20% ถือว่าอยู่ในอัตราต่ำเป็น อันดับสองรองจากประเทศสิงคโปร์ แต่ยังคง การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ด้วย
"นโยบายของคสช. ไม่ใช่แต่ส่งเสริม การลงทุน แต่ต้องดูด้วยว่า เมื่อเราอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว จะเกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างไร กระทรวงการคลังเห็นว่า ขณะนี้ให้สิทธิประโยชน์ทาง ภาษีมากไป และต่อไปต้องปรับลดลง เพราะภาษีนิติบุคคลเราก็เก็บต่ำ และยังคงภาษี มูลค่าเพิ่มไว้ด้วย" เขากล่าว
ขึ้นเพิ่มแวตต้องพิจารณาหลายด้าน
สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราจัดเก็บ 7% คงไว้จนถึงเดือนก.ย.ปี 2558 จากนั้น จะพิจารณาว่า จะคงอัตราเดิม หรือเพิ่มอัตราการจัดเก็บเป็นขั้นบันได ในเรื่องนี้ ภาคเอกชนไม่เห็นด้วย และมองว่า จะกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งการจะปรับหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาหลายด้านประกอบ ตัวอย่างการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในญี่ปุ่นที่ปรับขึ้นจาก 8% เป็น 10% แต่ญี่ปุ่นก็ได้ประกาศล่วงหน้า ทำให้เกิดการกักตุนสินค้า การใช้จ่ายลดใน 1-2 เดือน แต่หลังจากนั้น การใช้จ่ายกลับเข้าสู่ระดับปกติ
กระทรวงการคลังยังได้เสนอร่างกฎหมายจัดตั้งสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อในระดับรากหญ้าทำได้ง่ายขึ้นในหลักการ คือให้ผู้มีเงินทุนสามารถขอจัดตั้งธุรกิจสินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ได้ โดยคิดดอกเบี้ยได้สูงกว่า 15% ต่อปี ขณะที่การทวงถามหนี้ ต้องเป็นธรรมและโปร่งใส ซึ่งได้เสนอร่างพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ด้วย
สำหรับกรณีสหกรณ์ออมทรัพย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มาหารือในเบื้องต้นกับกระทรวงการคลังว่า จะมอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศทั้งหมด เพราะเห็นว่า กระทรวงการคลังมีศักยภาพในการดูแลได้
"ตัน"ชี้ควรเก็บภาษีเครื่องดื่ม111รายการ
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและทำตลาดเครื่องดื่มชาเขียวอิชิตัน กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังเสนอจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มให้คสช.พิจารณานั้น ในฐานะผู้ประกอบการต้องการให้รัฐดำเนินการอย่างเป็นธรรม โดยจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่ได้รับการยกเว้นจัดเก็บภาษีตามบัญชีแนบท้ายทั้ง 111 รายการ ไม่เฉพาะรายการใดรายการหนึ่ง
เนื่องจาก หากจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มรายการใดรายการหนึ่งก็จะกระทบการแข่งขันทางธุรกิจ เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ โดยที่ผ่านมา ในการผลิตสินค้าแต่ละรายการ ผู้ประกอบการจะต้องวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคทางการตลาด วางแผนและใช้งบลงทุนมหาศาล ทั้งเครื่องจักร การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกชา เป็นต้น ไม่เฉพาะสินค้าชาเขียวยังรวมถึงเครื่องดื่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำส้ม ก็ต้องลงทุนปลูกส้ม ฯ ผู้ประกอบการทุกรายล้วนมองการลงทุนในระยะยาว
นายตัน กล่าวว่า หากภาครัฐจะจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มจริง ก็ควรพิจารณาในอัตราค่อยเป็นค่อยไป ส่วนอัตราที่จะจัดเก็บ 10-20% มองว่าสูงเกินไป ควรทยอยขึ้น และต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการตัว
อย่างไรก็ตาม หากรัฐจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มจริง ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และราคาสินค้า อาจทำให้ตลาดเกิดภาวะชะงักงันในช่วงแรก
สำหรับ ภาพรวมตลาดชาเขียวปัจจุบันมีมูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะเติบโต 10% จากปกติตลาดเติบโตสูงถึง 30% ส่วนครึ่งปีแรกเติบโตในอัตราติดลบ 2% จากปัจจัยลบเศรษฐกิจ การเมือง และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัว
คาดขึ้นภาษีเฉพาะชาเขียว
แหล่งข่าวจากวงการน้ำผลไม้ กล่าวว่า หากรัฐจะเก็บภาษีเครื่องดื่มผสมน้ำตาล มองว่าควรจะมีการจัดเก็บให้เป็นธรรม และไม่ควรครอบคลุมเฉพาะสินค้าเครื่องดื่ม เนื่องจาก ในตลาดคอนซูเมอร์โปรดักส์ พบว่า ยังมี สินค้าอีกหลายรายการ โดยเฉพาะอาหารและขนม ที่มีปริมาณน้ำตาลเป็นส่วนผสม บางรายการสินค้าอาจมีมากกว่าเครื่องดื่มผสมน้ำตาลบางประเภท "หากจะเก็บก็ควรจะเก็บเท่าเทียมทั้งตลาดอย่างทั่วถึง เข้าใจว่ารัฐต้องการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษี"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 สิงหาคม 2557
- 102 views