มติชน - เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) แถลงข่าวเรื่อง "รักไม่พร้อม : จุดเริ่มต้นความพิการแต่กำเนิด" ว่า ปัจจุบันสถานการณ์แม่วัยรุ่น หรือแม่คลอดอายุน้อยของไทย สูงเป็นลำดับหนึ่งของเอเชีย ถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขอย่างหนึ่ง เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ความไม่สมบูรณ์ของทารก ทารกน้ำหนักตัวน้อย เสี่ยงเสียชีวิตทั้งแม่และลูก นอกจากนี้ แม่อายุน้อยยังมีวุฒิภาวะในการเลี้ยงดูบุตรต่ำ ทำให้พบปัญหาทั้งการทำร้ายเด็ก ทำร้ายตัวเอง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทารกทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาความพิการตั้งแต่กำเนิดนั้นมีโอกาสเกิดกับแม่ได้ทุกอายุ
"ความพิการตั้งแต่กำเนิด เกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งพันธุกรรม การได้ยาระหว่างตั้งครรภ์ โภชนาการไม่เหมาะสม ฯลฯ ปัจจุบันความพิการสามารถเกิดขึ้นได้กว่า 7,000 ชนิด ยกตัวอย่าง มีแม่วัยใสอายุ 9 ขวบ ให้กำเนิดลูกเป็นดาวน์ซินโดรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไม่สามารถคอนโทรลได้" พญ.พรสวรรค์กล่าว และว่า แม้จะไม่ได้เกิดกับแม่ทุกคน แต่แม่วัยใสที่ตั้งครรภ์เสี่ยงให้กำเนิดลูกที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ โดยธรรมชาติประมาณ 2.30-3 กิโลกรัม แต่แม่อายุน้อยให้กำเนิดเด็กมีน้ำหนักต่ำประมาณ 800 กรัม ถึง 1 กิโลกรัมเท่านั้น มีความเสี่ยงพิการในทุกระบบร่างกาย อาทิ หัวใจพิการ สมอง ดังนั้น การตั้งครรภ์เมื่อมีความพร้อมสำคัญมาก
พญ.พรสวรรค์กล่าวอีกว่า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนแพทย์ 8 แห่ง และเครือข่ายต่างๆ ได้จัดทำคู่มือเผยแพร่ความรู้ให้บุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล และประชาชน 5 กลุ่มโรคที่พบบ่อย คือ 1.อาการดาวน์ 2.หลอดประสาทไม่ปิด 3.โรคปากแหว่งเพดานโหว่ 4.แขนขาพิการแต่กำเนิด และ 5.กล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชนน์ นำร่องใน 22 จังหวัด เข้าสู่การสร้าง "อำเภอต้นแบบ" รวม 12 อำเภอ ให้ความรู้เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิดร่วมกับท้องถิ่น โรงเรียน เพื่อนำไปสู่การจดทะเบียนความพิการตั้งแต่แรกเกิด และป้องกันความพิการตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เช่น การให้โฟเลตแก่เด็กหญิงวัยเจริญพันธุ์ตั้งแต่ในโรงเรียนมัธยม หรือตรวจคัดกรองในคู่สามีภรรยา เป็นต้น
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 15 ก.พ. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 4 views