อนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผยแพร่สิทธิการรับรู้ประโยชน์ของโฟลิกแอซิด ช่วยป้องกันความพิการของทารกแรกเกิด ไทยมีเด็กพิการแต่กำเนิดคลอดใหม่ถึงปีละกว่า 30,000 คน หากส่งเสริมหญิงตั้งครรภ์ทุกคนกินโฟลิก จะช่วยลดความสูญเสียได้
นางฉัตรสุดา จันทร์ดียิ่ง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิเด็กและการศึกษา เป็นประธานการประชุมการกำหนดแนวทางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ รณรงค์ให้ประชาชนรับทราบถึงประโยชน์ของกรดโฟลิกแอซิด (Folic Acid) ในการป้องกันความพิการของเด็กทารกแรกเกิดซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของชาติ โดยมีผู้แทนจากสภากาชาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ หน่วยเวชพันธุศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และองค์กรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนา
นางฉัตรสุดา กล่าวว่า ความรู้เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด เป็นสิทธิของประชาชนคนไทยทุกคนควรได้รับทราบ เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อยและนำความทุกข์ทรมานมาสู่ทั้งผู้ป่วยเองและครอบครัว ในขณะที่ทั่วโลกทราบและรณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง คนไทยทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้รับรู้เรื่องนี้เพื่อป้องกันตนเองและบุตรหลานจากความพิการแต่กำเนิด
พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความรู้เรื่องโฟลิกแอซิดสามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้ มีมานานกว่า 40 ปี แล้ว ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถลดความพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงลงได้เกือบครึ่ง ซึ่งในประเทศไทยอัตราการเกิดเด็กพิการแต่กำเนิดมากถึง 3-5 ในร้อยคน ในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ในไทยปีละเกือบ 800,000 คน หมายถึงมีเด็กพิการแต่กำเนิดคลอดใหม่ถึงปีละกว่า 30,000 คน หากสามารถลดจำนวนเด็กพิการที่เกิดใหม่ในแต่ละปีลงได้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง โฟลิกแอซิดนอกจากจะป้องกันความพิการแต่กำเนิดแล้วยังลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดและภาวะทารกน้ำหนักแรกคลอดต่ำ และประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย บางรายงานการวิจัยยังพบว่าโฟลิกแอซิดช่วยป้องกันอุบัติการณ์การเกิดโรคออติซึ่ม (AUTISM) ในเด็กด้วย
นพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า แม้ว่าจะมีการดำเนินการแบบบูรณาการของบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาต่างๆ เพื่อช่วยกันจัดระบบดูแลผู้ป่วยพิการแต่กำเนิด เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือโรคอื่นๆ ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการดูแลทันเวลา ตามที่ควรจะเป็น อีกทั้งในรายที่มีความพิการรุนแรง การรักษาก็เพียงแค่ทำให้ดีขึ้น ไม่สามารถรักษาได้จนเป็นปกติ ดังนั้นการป้องกันความพิการแต่กำเนิดจึงเป็นความหวังสูงสุดที่จะลดความทุกข์ทรมานของประชาชนจำนวนมาก
องค์การอนามัยโลกได้ประเมินผลดีผลเสียการให้โฟลิกแอซิดในระดับประชากรและได้ออกคำแนะนำให้ทุกประเทศทั่วโลกรณรงค์ลดความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟลิกแอซิด แต่ในประเทศไทยกลับไม่มีแม้แต่การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องนี้แก่ประชาชน ซึ่งหากเราปล่อยให้เกิดทารกพิการแต่กำเนิด ทั้งที่สามารถป้องกันได้ ก็จะนำมาซึ่งความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวง เป็นความสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ของประเทศชาติและความสูญเสียทางจิตใจของผู้ป่วยและพ่อแม่อย่างไม่อาจประเมินค่าได้
ศ.นพ.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรู้เรื่องโฟลิกแอซิด ป้องกันความพิการแต่กำเนิด ได้รับการพิสูจน์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนปราศจากข้อสงสัย ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการออกกฎหมายบังคับให้ผลิตภัณฑ์อาหารที่คนอเมริกันกว่า 300 ล้านคน ทานเป็นประจำทุกวันต้องผสมโฟลิกแอซิดในปริมาณสูง มาตั้งแต่ปี 2541 รวมทั้งออกคำแนะนำให้หญิงที่ประสงค์จะตั้งครรภ์ทานโฟลิกแอซิด ตั้งแต่ปี 2539 และแนะนำให้ทุกประเทศทั่วโลก รณรงค์ป้องกันความพิการแต่กำเนิดด้วยโฟลิกแอซิดในปี 2552
ปริมาณโฟลิกแอซิดที่ต้องการเพื่อป้องกันความพิการแต่กำเนิดคือ 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมีราคาถูกมาก ในประเทศไทย ยาเม็ดโฟลิกแอซิด 5 มิลลิกรัม ขององค์การเภสัชกรรมมีราคาต้นทุนเพียงเม็ดละ 9 สตางค์ แต่กำลังจะขึ้นราคาเป็นเม็ดละ 20 สตางค์ ซึ่งก็ยังถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ โฟลิคแอซิดขับออกทางปัสสาวะ ไม่มีพิษ ไม่สะสมในร่างกายแม้จะทานในปริมาณมากซึ่งโฟลิกแอซิดในอาหารตามธรรมชาติ มีไม่มากพอที่จะป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้
ปัจจุบันนี้มีมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก มีการผสมโฟลิกแอซิดในอาหาร แม้แต่ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเนปาล ก็มีการออกกฎหมายบังคับให้ผสมโฟลิกแอซิดในอาหารประจำวัน เพื่อลดความพิการแต่กำเนิดแล้ว
ทั้งนี้ โฟลิกแอซิด หรือ โฟเลต เป็นวิตามินบี 9 พบได้ในไข่แดง ตับ ผักใบเขียวเข้ม แครอท แคนตาลูป ฟักทอง อะโวคาโด ถั่ว หรือ ในรูปยาเม็ด (เช่น โฟลิกแอซิด ขนาด 5 มิลลิกรัม หรือยาเม็ดไตรเฟอร์ดีน ขององค์การเภสัชกรรม) การรับประทานโฟลิกแอซิดจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงของความพิการแต่กำเนิดได้ร้อยละ 20-50 เช่น
ลดโอกาสการเกิด และการเกิดซ้ำความพิการแต่กำเนิดของหลอดประสาท ได้ร้อยละ 70
ลดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ได้ร้อยละ 25-50
ลดความผิดปกติของแขน ขา ได้ร้อยละ 50
ลดความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะและโรคไม่มีรูทวารหนัก ได้ประมาณ 1 ใน 3
ลดโอกาสการเกิดปากแหว่ง ได้ประมาณ 1 ใน 3
- 48 views