คมชัดลึก - นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกาเอกชน (กช.) เรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าทดแทน กรณีตาย หรือสาบสูญ ของผู้อำนวยการ ครู และบุคคลากรทางการศึกษา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือทำงานให้แก่โรงเรียนเอกชนในระบบ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้กองทุนจ่ายเงินทดแทนแก่ครู่สมรสและทายาทโดยธรรมของบุคคลดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีการจ่ายเงินลักษณะนี้มาก่อนจึงถือเป็นครั้งแรกที่ครูจะได้รับเงินค่าทดแทน เนื่องจากกฎหมายระบุว่ากิจการของโรงเรียนเอกชนไม่อยู่ภายใต้กฎหมายประกันสังคมและกฎหมายเงินทดแทนครูจึงไม่เคยได้รับเงินค่าทดแทนดังกล่าว โดยในการจ่ายให้อิงกับกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ในวงเงิน 60% ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายของครูคูณด้วย 96 เดือน (8 ปี) แต่ต้องไม่เกิน 2 แสนบาท โดยนำดอกผลจากกองทุนมาจ่ายให้ อย่างไรก็ตามกองทุนต้องทำรายละเอียดในร่างประกาศให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อนำเสนอกช.พิจารณาและออกประกาศต่อไป
ปลัดศธ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณากรณีที่ผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลได้ไม่เกิน 1 แสนบาทว่า ควรได้รับมากกว่า 1 แสนบาทในรายที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ร้ายแรง ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้กองทุนไปพิจาณาว่ากรณีครูป่วยด้วยโรคร้ายแรงจะจ่ายเพิ่มได้เท่าไหร่ เนื่องจากที่ผ่านมามีการขอเข้ามาเป็นรายๆ แต่ไม่มีแนวทางและหลักเกณฑ์พิจารณาว่ารายไหนควรให้หรือไม่ควรให้เป็นอย่างไร ดังนั้น ผอ.กองทุนต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้ครูที่เป็นโรคร้ายแรงกรณีพิเศษเร่งด่วนสามารถเบิกเงินเกิน 1 แสนบาทได้ อย่างไรก็ตามตนได้ให้แนวทางไปว่าให้ช่วยเหลือกับครูที่ไม่เคยใช้เงินค่ารักษาพยาบาล แต่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเหมือนกัน จึงอยากให้พิจารณาคู่ขนานกันไปทั้ง 2 ส่วน สำหรับครูที่ไม่ป่วยร้ายแรง หรือไม่เคยเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลเลย อาจตั้งเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของครูโรงเรียนเอกชน เช่น ใช้เงิน ศึกษาดูงาน พัฒนาความรู้ความสามารถซึ่งขอให้พิจารณาว่าอาจจะมีทั้งที่ให้ฟรี และให้กู้โดยไม่คิดดอกเบี้ย ทั้งนี้ ผอ.กองทุนต้องไปคิดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าและนำกลับมาเสนอคณะกรรมการกองทุนพิจารณาอีกครั้ง
ที่มา--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 13 ก.พ. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 324 views