กรุงเทพธุรกิจ - เป็นที่น่าตกใจเมื่อตัวเลขคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง โดยการ เปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีถึงปีละ 60,000 คน และถือเป็นโรคร้าย อันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตประชาชนในประเทศ ขณะที่ทั่วโลกมีรายงานเสียชีวิตปีละเกือบ 8 ล้านคน
ทว่ามีการเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นโรคมะเร็ง ได้แก่ คนอ้วน คอทองแดง สิงห์อมควัน คนที่กินผักผลไม้สดน้อย และไม่ออกกำลังกาย โดยเฉพาะประชาชนอายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งควรต้องตรวจร่างกายประจำปี เพราะหากพบตั้งแต่ระยะแรก โอกาสรักษาหายมีสูง
และในวันที่ 4 ก.พ.ทุกปี องค์การ อนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากล กำหนดให้เป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ รณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับมะเร็งและตระหนักถึงความรุนแรงของโรคนี้ โดยนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขเร่งกระจาย โรงพยาบาลรักษามะเร็งทั่วประเทศ ทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด ฉายแสง และดูแลผู้ป่วยที่หมดหวังถึงบ้าน
เนื่องจากขณะนี้โรคมะเร็งกำลังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่รุนแรงระดับโลก เป็นภัยเงียบคุกคามชีวิตประชาชนวัยแรงงานและผู้สูงอายุมากที่สุด องค์การอนามัยโลกรายงานพบผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลกปีละประมาณ 13 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 7.6 ล้านคน มากที่สุดคือมะเร็งปอดจำนวน 1.37 ล้านคน แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ทุกประเทศ คาดว่าในอีก 16 ปีคือในปี 2573 จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 13 ล้านกว่าคน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก
นายแพทย์ณรงค์ บอกว่า สำหรับประเทศไทย พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุ การตายสูงอันดับ 1 ของคนไทยต่อเนื่อง มานานกว่า 13 ปี ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ล่าสุดในปี 2554 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งทุกชนิด 61,082 คน คิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดที่มีปีละ 414,670 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3,000 คน
ในการจัดบริการทั้งการป้องกัน การดูแลรักษาผู้ป่วย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการใน รูปแบบของเขตบริการสุขภาพ มีทั้งหมด 12 เขต เขตละ 5-8 จังหวัด ดูแลประชาชนเฉลี่ยประมาณ 5 ล้านคน ให้แต่ละเขตบริการใช้หลักการบริหารรวมทั้งงบประมาณ กำลังคน และเครื่องมือแพทย์ร่วมกัน โดยใช้แผนบริการสุขภาพหรือเซอร์วิส แพลน (service plan) เป็นเครื่องมือหลักของการพัฒนา
ซึ่งได้กำหนดให้บริการของโรคมะเร็ง เป็น 1 ใน 10 สาขาบริการหลักที่ต้องดำเนินการ ทุกเขตบริการสุขภาพ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งที่มาพบแพทย์ ป่วยในระยะ ลุกลามมากกว่าระยะเริ่มต้น โอกาสหายขาด จึงมีน้อย
ทั้งนี้มาตรการพัฒนาบริการ กำหนดให้ทุกเขตบริการสามารถผ่าตัดมะเร็ง รักษาด้วยเคมีบำบัด และขยายการรักษาด้วยรังสี เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยมะเร็งเร็วขึ้น ได้รักษาใกล้บ้าน โดยได้รับการ ผ่าตัดใน 4 สัปดาห์ ได้รับยาเคมีบำบัดใน 4 สัปดาห์ และได้รับการฉายแสงระงับเซลล์มะเร็งแพร่กระจายใน 6 สัปดาห์
ทางด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขยายบริการดูแล ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่จะดูแลที่บ้าน โดยให้ทีมสุขภาพของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ร่วมกับโรงพยาบาลชุมชนและอสม. ออกไปให้การดูแลที่บ้านอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมานผู้ป่วย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง ที่สำคัญมี 5 ประการได้แก่ ความอ้วน การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การไม่ออก กำลังกาย และไม่กินผักผลไม้สด โดย โรคมะเร็งจะค่อยๆ ก่อตัว ค่อยเป็นค่อยไป ไม่รู้ตัว จึงขอแนะนำผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจสุขภาพ ค้นหาความผิดปกติ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบเร็ว โอกาสรักษาหายจะมีสูง
ขณะเดียวกันได้จัดระบบการป้องกัน และการค้นหาผู้ที่เริ่มมีความผิดปกติ แต่ยังไม่รู้ตัว เช่นผู้หญิงที่อายุ 30 ปีขึ้นไป จะรณรงค์ให้ตรวจหามะเร็งปากมดลูก ให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ตรวจมะเร็งเต้านม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ90 หากพบความผิดปกติ จะได้รับการผ่าตัดภายใน 1 เดือน ซึ่งมีโอกาสหายเป็นปกติสูงมาก หากเซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามไปที่อื่น
ส่วนในบางเขตบริการฯ เช่นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่พบโรคมะเร็งตับสูง จะตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ หากพบจะให้ยาฆ่าพยาธิและปรับพฤติกรรมเลิกกินปลาน้ำจืดดิบ ๆ สุกๆ ด้วย
สำหรับการป้องกันโรคมะเร็ง มีหลักการ ง่ายๆ คือ 5 ทำ 5 ไม่ กิจกรรมที่ควรทำ 5 ประการได้แก่ 1.ออกกำลังกายประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที จะป้องกันความอ้วน ลดความเครียดได้ 2. ทำจิตแจ่มใส ทำได้หลายวิธีเช่นออกกำลังกาย การทำบุญตามวิถีแห่งศาสนา การทัศนศึกษา
3. กินผักผลไม้สดให้ได้วันละครึ่งกิโลกรัม ในผักผลไม้มีสารต้านมะเร็ง เช่น วิตามินเอ สารเบต้าแคโรทีน และมีเส้นใยอาหาร ทำหน้าที่คล้ายแปรงไปกระตุ้นผนังลำไส้ใหญ่ให้สร้างเมือกมากขึ้น ทำให้ระบบขับถ่ายดี 4.กินอาหารให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ และใหม่สด สะอาด ปราศจากเชื้อรา ลดอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง หรือทอดไหม้เกรียม อาหารหมักดองเค็ม และ 5. ตรวจร่างกายเป็นประจำ
และสิ่งที่ไม่ควรทำมี 5 ประการคือ 1.ไม่สูบบุหรี่ โดยพบว่ามะเร็งปอดร้อยละ 80 เกิดจากสูบบุหรี่ ปัจจุบันพบมะเร็งปอด รายใหม่ปีละกว่า 10,000 คน หากหยุดสูบบุหรี่จะป้องกันเกิดมะเร็งปอดได้ร้อยละ 60-70 2.ไม่มีเซ็กส์มั่ว ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
3.ไม่ดื่มสุรา โดยผู้ที่ดื่มสุรามากกว่า วันละ 3 แก้ว จะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง 9 เท่าของคนไม่ดื่ม และหากดื่มมากกว่าวันละ 3 แก้วและสูบบุหรี่มากกว่าวันละ 20 มวนด้วย ความเสี่ยงเกิดมะเร็งจะเพิ่มเป็น 50 เท่าตัว 4.ไม่ตากแดดจ้า และ 5.ไม่กินปลาน้ำจืด ที่มีเกล็ดดิบๆ เช่นปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาเกล็ดขาว
ทั้งนี้นายแพทย์วชิระแนะว่า ประชาชนสามารถสังเกตสัญญาณผิดปกติ สงสัยว่า อาจเป็นมะเร็งมี 7 ประการ ได้แก่ 1.มีเลือดออกหรือมีสิ่งขับออกจากร่างกายผิดปกติ เช่น ตกขาวมากเกินไป 2.มีก้อนเนื้อหรือตุ่ม เกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้น โตเร็ว 3.มีแผลเรื้อรังรักษาหายยาก 4.ถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะผิดปกติหรือ เปลี่ยนไปจากเดิม
5.เสียงแหบหรือไอเรื้อรัง 6.กลืนอาหารลำบากหรือทานอาหารแล้วไม่ย่อย และ 7.มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝ หาก มีอาการเหล่านี้ขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว
'ดื่มสุราเกินวันละ 3 แก้ว เพิ่มเสี่ยงมะเร็ง 9 เท่าและ หากสูบบุหรี่เกิน วันละ 20 มวนด้วย จะเพิ่มเป็น 50 เท่า' วชิระ เพ็งจันทร์
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557
- 9 views