กรุงเทพธุรกิจ - โรงพยาบาลจุฬารัตน์ รุกขยายฐานกลุ่ม โรงพยาบาล ทุ่มเงิน 42 ล้านบาท ซื้อกิจการ "อาคเนย์ เมดิคอล เซอร์วิส" 100% "กำพล พลัสสินทร์" เชื่อช่วยเสริมทัพโรงพยาบาล จุฬารัตน์ อาคเนย์ ในจ.ปราจีนบุรี ได้ทีมแพทย์เชี่ยวชาญเข้ามาเสริมเพียบ สร้างความแข็งแกร่งเป็นผู้นำในย่านจังหวัดใกล้เคียง ยันวางเป้ารายได้ปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 10%
นพ.กำพล พลัสสินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ หรือ CHG เปิดเผยว่า โรงพยาบาลจุฬารัตน์ ได้เข้าไปซื้อกิจการ บริษัท อาคเนย์ เมดิคอล เซอร์วิส จำกัด จำนวน 132,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 100% ที่มูลค่าลงทุนรวม 42 ล้านบาทนั้น นอกจากที่ดินแล้ว การซื้อกิจการยังได้ทีมบุคลากรเป็นคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นใน การให้บริการอีกระดับหนึ่งในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี
บริษัท อาคเนย์ เมดิคอล เซอร์วิส เป็นทีมแพทย์จากศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีคณะแพทย์ที่เชี่ยวชาญ จึงเชื่อว่าการซื้อกิจการดังกล่าวจะสร้างความเชื่อมั่นในการให้บริการกับผู้ป่วยมากขึ้น
นพ.กำพลกล่าวอีกว่าโรงพยาบาลจุฬารัตน์ จะขายหุ้น 30% ในบริษัท จุฬารัตน์ อาคเนย์ (บริษัทย่อย) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการปราจีนบุรี ให้แก่พันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ซึ่งได้แก่แพทย์และนักลงทุนทั่วไปมูลค่าการลงทุนรวม 90 ล้านบาท โดยธุรกรรมดังกล่าวทำ ให้ จุฬารัตน์ อาคเนย์ มีที่ดินในมือมากขึ้น ใน จ.ปราจีนบุรี เพื่อสร้างโรงพยาบาลใหม่ และยังทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลของ CHG ใน จ. ปราจีนบุรี แข็งแกร่งขึ้นผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่
ล่าสุดโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท โรงพยาบาลชลเวช ระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นบริษัท โรงพยาบาลชลเวช (ผู้ขาย) และ บริษัท บางปะกงเวชชกิจ (ผู้ซื้อ) โดยในส่วนของโรงพยาบาลชลเวช จะมีการปรับปรุงภาพลักษณ์โรงพยาบาล และมีการเพิ่มการให้บริการ ขยายในส่วนของผู้ป่วยใน โดยเพิ่มจำนวนเตียงมากขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 28 เตียงในปัจจุบัน
นอกจากนั้นจะยกระดับให้โรงพยาบาล ชลเวช เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง ให้เป็นศูนย์โรคหัวใจครบวงจร และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุเพื่อให้บริหารกับผู้ป่วยในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียง
"สำหรับปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่าน โดยในปีนี้บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากการเข้าถือหุ้นกว่า 90% ในโรงพยาบาลชลเวช และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มประกันสังคมจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 แสนราย จากปัจจุบันที่ 3.2 แสนราย และมีแผนจะเปิด ศูนย์ศัลยกรรมพลาสติกครบวงจร ที่จะทำรายได้เข้ามาเสริมในส่วนของศูนย์แพทย์เฉพาะทาง หลังจากมีศูนย์โรคหัวใจและโรคมะเร็งด้วยเครื่อง HIFU ไปแล้ว พร้อมทั้งยังมีแผนเพิ่มจำนวนเตียง ผู้ป่วยอีก 50 เตียง จากในปีนี้ที่มีอยู่ 380 เตียง" นพ.กำพล กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 มกราคม 2557
- 227 views