นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : โรงพยาบาลเอกชนเดินเกมลุยตลาดประกันสังคม แย่งเค้ก 3.4 หมื่นล้าน ลดความเสี่ยง-เมกชัวร์รายได้ เผยแนวโน้มจำนวนผู้ประกันตนพุ่งปีละ 3-4 แสนคน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวเพิ่ม "เกษมราษฎร์-วิภาราม-จุฬารัตน์" แห่ลงทุนเปิดสาขาใหม่ถี่ยิบ พุ่งเป้าเจาะนิคมอุตสาหกรรมในต่างจังหวัด กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพโดดร่วมวง ส่ง "ศรีระยอง" ลุย เตรียมปัดฝุ่นสาขาพระประแดง รับลูกค้าประกันสังคมอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าว นสพ.ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า จากเม็ดเงินมูลค่าของประโยชน์ตอบแทนที่สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายในแต่ละปีที่มีมากกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ส่วนใหญ่จ่ายไปกับการเจ็บป่วยที่มีมากกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท รองลงไปเป็นการคลอดบุตร 6.9 พันล้านบาท สงเคราะห์บุตร 6.7 พันล้านบาท ชราภาพ 6.5 พันล้านบาท ว่างงาน 4.7 พันล้านบาท และตาย 1.5 พันล้านบาท และที่สำคัญเงินจำนวนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากมีจำนวนผู้ประกันตนในแต่ละปีที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 3-4 แสนคน รวมทั้งสำนักงานประกันสังคมมีนโยบายจะเพิ่มค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลต่อหัวเพิ่ม จึงทำให้โรงพยาบาลเอกชนหลายๆ แห่งให้ความสนใจและกระโดดเข้ามาแย่งเค้กในส่วนของการรักษาพยาบาลที่มีมูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาทนี้มากขึ้น
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนหลายๆ แห่ง มีความเคลื่อนไหวในการที่จะขยายฐานกลุ่มลูกค้าไปยังตลาดประกันสังคมชัดเจนขึ้น ถือเป็นกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงด้านรายได้ ซึ่งปีนี้สำนักงานประกันสังคมได้พิจารณาให้โควตากับโรงพยาบาลแต่ละแห่งที่เข้าร่วมโครงการเพิ่มอีกประมาณ 10% หรือเฉลี่ยแห่งละประมาณ 1.3 หมื่นคน จากปี 2558 ทีมีจำนวนสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการประกันสังคมรวม 241 แห่ง เป็นสถานพยาบาลรัฐ 157 แห่ง และเอกชน 84 แห่ง
"ในแง่ธุรกิจต้องมีการเติบโตทุกปี พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งไม่ได้ ถ้าตลาดหนึ่งมีปัญหาก็ยังมีอีกตลาด ประกันสังคมเป็นตลาดพื้นฐานที่มีการบริหารจัดการง่ายกว่าโครงการ 30 บาท และถ้าโรงพยาบาลมีความพร้อม สามารถเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยประกันสังคมได้ด้วย ก็จะมีรายได้เพิ่มเติมอีก"
สำหรับกลุ่มบางกอกเชน ล่าสุด เกษมราษฎร์ ศรีบุรินทร์ (เชียงราย) ได้กลับมารับลูกค้าประกันสังคม หลังจากหยุดไป 2 ปี พร้อมลงทุนอีกประมาณ 80 ล้านบาท ขึ้นตึกใหม่เพิ่ม หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนไป 2 เดือน มียอดผู้ประกันตนเข้ามาเกือบ 3 หมื่นราย จากจำนวนผู้ประกันตนในเชียงรายประมาณ 6 หมื่นกว่าคน
ล่าสุดซื้อที่ดิน 10 ไร่ ในจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อสร้างโรงพยาบาล โดยจะใช้แบรนด์การุญเวช ขนาด 140 เตียง ลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อรับกลุ่มลูกค้าประกันสังคมที่จะครอบคลุมโซนนิคมอุตสาหกรรม 304 และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จากเดิมที่มีการุญเวช ที่ปทุมธานีและพระนครศรีอยุธยา ที่รับกลุ่มคนไข้ประกันสังคมอยู่แล้ว
ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือเกษมราษฎร์ที่รับประกันสังคมมีเกือบ 10 แห่ง ทั้งในนามของเกษมราษฎร์และการุญเวช มี ผู้ประกันตนรวมกว่า 7 แสนคน และปีนี้ได้รับโควตาเพิ่มอีก 4 หมื่นคน
สอดคล้องกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ที่มีผู้ประกันตนรวม 3.5 แสนคน นายพลสันต์ พลัสสินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ชลเวช ในเครือโรงพยาบาลจุฬารัตน์ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าประกันสังคมยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากผู้มีสิทธิ์ประกันสังคมเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ละปีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 3-4 แสนคน ปัจจุบันมีประมาณ 11.5 ล้านคน และสำนักงานประกันสังคมเหมาจ่ายให้สถานพยาบาลเฉลี่ย 1,460 บาทต่อหัว ซึ่งถือเป็นรายได้ที่แน่นอน และปีนี้กลุ่มจุฬารัตน์ได้โควตาเพิ่มอีก 5 หมื่นคน
ขณะนี้อยู่ระหว่างลงทุนอีก 375 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลจุฬารัตน์ ปราจีนบุรี ขนาด 100 เตียง สำหรับรองรับลูกค้าเงินสด ประกันชีวิต และประกันสังคม ส่วนจุฬารัตน์ ระยอง ที่เพิ่งซื้อกิจการมาก็รับประกันสังคมด้วย ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ เงินสดและประกันสังคมอยู่ที่ 50 : 50
ขณะที่ นายอังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในอนาคตผู้ประกันตนมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการขยายฐานผู้ประกันตนที่เป็นชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในไทย ขณะเดียวกันสำนักงานประกันสังคมก็มีนโยบายเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมากขึ้น ทำให้ขยายวงเงินมากขึ้น และถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของโรงพยาบาลที่รับคนไข้ประกันสังคม
ล่าสุด โรงพยาบาลลาดพร้าวกำลัง รีโนเวตอาคารเดิม เพิ่มพื้นที่ประกันสังคมและขยายห้องตรวจอีก 20 ห้อง จากที่มีกว่า 30 ห้อง ปัจจุบันมีผู้ประกันตน 149,500 คน และได้โควตาเพิ่มอีก 1 หมื่นคน ส่วนสาขา 2 ลำลูกกา ที่จะเริ่มก่อสร้างปีหน้าและรับลูกค้าประกันสังคมด้วยเช่นกัน
"โรงพยาบาลเปิดใหม่ต้องใช้เวลาสร้างความเชื่อมั่นของผู้ป่วย หากเปิดรับผู้ป่วยประกันสังคมก็จะช่วยสร้างรายได้ระดับหนึ่ง"
ด้านนายพิจิตต์ วิริยะเมตตากุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลวิภาวดี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากนี้ไปการลงทุนใหม่ๆ จะให้ความสำคัญทั้งตลาดเงินสดและประกันสังคม โดยเฉพาะประกันสังคมที่มองโอกาสเข้าไปตามนิคมอุตสาหกรรม เช่น วิภาราม สมุทรสาคร ที่สร้างใหม่บนพื้นที่ 10 ไร่ ขนาด 200 เตียง งบฯ 800 ล้านบาท ก็มีแผนจะเปิดให้บริการสำหรับคนไข้ประกันสังคม หรือวิภาราม นวมินทร์ ขนาด 50 เตียง ที่จะเปิดในไตรมาส 3-4 ปีนี้ รับทั้งประกันสังคมและบัตรทอง งบฯ 100-200 ล้านบาท ส่วนวิภาราม อมตะนคร งบฯกว่า 900 ล้านบาท ขนาด 200 เตียง เพิ่งเปิดรับผู้ประกันตนเมื่อต้นปีนี้ ได้โควตา 5 หมื่นคน ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียน 3 หมื่นกว่าคน จากปัจจุบัน กลุ่มวิภารามมีผู้ประกันตนรวม 3 แสนกว่าคน เชียงใหม่รามมี 3 แสนกว่าคน และปีนี้ได้โควตาเพิ่มอีกประมาณแห่งละ 10%
ด้านความเคลื่อนไหวของรายใหญ่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่มีแบรนด์เปาโลฯ และพญาไท ศรีราชา รับผู้ประกันตน ล่าสุดก็กระโดดลงมาเล่นตลาดนี้เช่นกัน แหล่งข่าวจากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพระบุว่า หลังจากที่ได้เข้าไปซื้อกิจการโรงพยาบาลสุนทรภู่ ขนาด 200 เตียง ที่จังหวัดระยอง และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงพยาบาลศรีระยอง เมื่อปีที่ผ่านมา ล่าสุด เมื่อต้นปีได้เริ่มรับลงทะเบียนผู้ประกันตน และได้รับโควตา 2.5 หมื่นคน ขณะนี้มีประมาณ 7 พันคน ส่วนโรงพยาบาลกรุงเทพพระประแดงก็มีนโยบายจะกลับมารับประกันสังคมในปี 2560 เนื่องจากเห็นโอกาสจากพื้นที่ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม สมาชิกผู้ประกันตนมีจำนวนมาก แต่สถานพยาบาลมีน้อย
ที่มา: นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 - 13 มี.ค. 2559
- 130 views