เมื่อวิชาชีพแพทย์ที่ถือหลักปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยโดยไม่เลือกว่าเป็นผู้ร้ายหรือเป็นนักบุญ ได้ออกมาความคิดเห็นทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีที่ผู้นำองค์กรอย่างนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดหน้าแสดงจุดยืนชัดเจนว่าประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พร้อมกับข้อเรียกร้องอีกหลายข้อตามมาในนามของแถลงการณ์ประชาคมสาธารณสุข ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวมีทั้งผู้ที่สนับสนุน และไม่เห็นด้วย ในส่วนของผู้ที่สนับสนุนก็ยกย่องว่าเป็นสิ่งที่ข้าราชการระดับสูงคนหนึ่งควรจะทำ และเป็นแบบอย่างที่ข้าราชการกระทรวงอื่นๆ ควรจะเอาเยี่ยงอย่าง ในขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยมองว่าแพทย์จะต้องวางตัวเป็นกลาง ที่สำคัญประชาคมไม่ใช่ความเห็นทั้งหมดของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้นจะเห็นว่าหลังจากนั้นไม่นานก็มีแถลงการณ์ในนามของอธิบดีกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขออกตามมา โดยนพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ และวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงออกทางการเมืองของวิชาชีพแพทย์ และผู้บริหารอย่างถึงพริกถึงขิง เป็นที่มาของการถูกสมาชิกกลุ่มประชาคมสาธารณสุขที่เตรียมตัวไปร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่ม กปปส.เดินทางมาปลดป้ายชื่อของนพ.ชาญวิทย์ ออกจากบอร์ดผู้บริหารระดับสูง และปลดป้ายชื่อหน้าห้องทำงาน พร้อมกับปิดทับด้วยป้ายที่เขียนถ้อยคำด่าทอที่ค่อนข้างรุนแรง เพียงชั่วข้ามคืน
“ผมแค่จะมาทำงาน เขาคงไม่อยากให้ข้าราชการทำงาน ก็ไม่เป็นไร ผมเข้าใจ ผมเพียงแต่เป็นกลางทางการเมือง ข้าราชการมันควรจะต้องเอาระเบียบ เอาวินัยมาจับ และเรากำลังดูแลประชาชนในภาวะที่มีความแตกแยกสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักในการที่จะต้องจัดรถพยาบาล ให้บริการในภาวะฉุกเฉิน เราไปประกาศตัวเลือกข้างได้อย่างไร ถ้าประกาศตัวเลือกข้างก็แปลว่าเราถือปืนลงไปในสนามรบ แล้วถ้าเกิดมีคนบาดเจ็บที่ไม่ใช่ฝ่ายเรา แล้วบอกเราจะเข้าไปช่วยเขาจะยอมให้เราช่วยไหม” นพ.ชาญวิทย์ กล่าวหลังเกิดเหตุการณ์ถูกปลดป้ายชื่อ
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นพ.ชาญวิทย์ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การที่ต้องออกมาแสดงความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขเพราะเห็นว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นกลางทางการเมือง ให้บริการทุกคน ไม่เลือกว่าเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชนในม็อบหรืออยู่ที่บ้าน เสื้อสีอะไรก็สามารถดูแลได้ทุกคน ความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ แต่ในเมื่อแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางด้านสาธารณสุขจะต้องให้การรักษาทุกคน ดังนั้นไม่ว่าจะคิดเห็นอย่างไรก็ควรแสดงออกที่บ้าน นี่ไม่ใช่ว่าจะจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง แต่ที่ผ่านมาก็เคยมีประสบการณ์มาแล้วในสมัยก่อนที่รถพยาบาลจะต้องถูกตรวจค้น เพราะฉะนั้นต้องทำให้เป็นกลางมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ข้าราชการสาธารณสุขส่วนใหญ่เป็นกลาง ดูแลประชาชนเท่าเทียมกัน ไม่ยุ่งการเมือง
นอกจากนี้ นพ.ชาญวิทย์ ก็ยังยืนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ติดใจใคร พร้อมรับฟังแล้วสนับสนุนทุกคนที่มา เพราะตนเป็นมืออาชีพ แต่อยากฝากไปยังคนที่ยังค้างคาใจในตัวตนให้ลองกลับไปอ่านสิ่งที่ตนพูดหรือย้อนกลับไปอ่านจรรยาบรรณวิชาชีพ หรือย้อนกลับไปอ่านระเบียบปฏิบัติข้าราชการพลเรือนก็จะเข้าใจสิ่งที่ตนพูด อย่างไรก็ตาม แม้นพ.ชาญวิทย์จะบอกว่าไม่ได้ติดใจใคร แต่ช่วงเย็นของวันเดียวกัน ก็ได้เดินทางไปแจ้งความที่ สภ.นนทบุรี เพื่อแจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ ทำร้ายร่างกาย เนื่องจากพบว่าทั้งลูกน้องในห้องทำงาน และคนขับรถถูกทำร้ายร่างกายในวันนั้น จึงเป็นหน้าที่ของตนที่ต้องปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แต่ก็ต้องมารับเคราะห์ไปด้วย
“โดยส่วนตัวอย่างที่เรียนผมไม่ได้โกรธไม่ได้ถือโทษอะไร ผมเข้าใจ แต่มีคนที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานให้ผม โดยเฉพาะเลขาที่มาเปิดห้องแต่เช้า คนขับรถที่ตามผมมาถูกทำร้ายไปด้วย อย่างนี้ไม่ถูกต้อง ถ้าไม่พอใจผมก็มาเล่นงานผมก็ต้องคุยกับผม หรือเล่นงานผม ไม่ใช่คนที่เขาไม่รู้เรื่อง แต่เขาทำงานให้ผม เพราะเขาเชื่อว่าผมทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง คุณไปทำความลำบากให้เขาได้อย่างไรในห้องทำงานของผม ดังนั้นพอทราบว่าทำกับผู้ใต้บังคับบัญชาผมผมก็ต้องแจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ ทำร้ายร่างกาย โดยหลักถือว่าผู้บังคับบัญชาต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นหน้าที่”
ทั้งนี้การที่ออกมาต้านกระแสน้ำที่กำลังเชี่ยวทำให้นพ.ชาญวิทย์ถูกมอง และถูกผลักไสว่าเป็นคนที่หนุนข้างรัฐบาล โดยเฉพาะที่ผ่านมาการขึ้นสู่ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแบบก้าวกระโดดก็ถูกมองว่าเป็นเพราะมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองระดับหัวกะทิของเมืองไทย แต่กระนั้นเจ้าตัวก็ไม่ได้ชี้แจงข้อกล่าวหานี้โดยระบุว่ามีเรื่องที่ถูกกล่าวมาหลายๆ เรื่องถ้าให้มาชี้แจงทุกเรื่องคงไม่ไหว อย่างเช่น กรณีทุจริตการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องมานานกว่า 10 ปี ท้ายที่สุด ศาลปกครองยกฟ้อง กพ. ก็ชี้ว่าทำถูกต้อง กรมบัญชีกลางก็ชี้ว่าทำถูกต้อง สำนักงานอัยการก็ชี้ว่าทำถูกต้อง ปปช. ก็ชี้ว่าทำถูกต้อง ตนทำงานให้กับกระทรวงนี้มานานและทำงานหลายเรื่อง ทั้งในต่างประเทศและในประเทศ การเข้ามาคงไม่ทราบจะเรียกว่าเข้ามาด้วยความสามารถหรือไม่ เพราะมันขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา ที่จะให้ความไว้วางใจแค่ไหน ไว้วางใจให้ทำงานอะไร
อย่างไรก็ตาม หลังจากการออกมาสื่อสารไปในทางที่ให้บุคลากรทางการแพทย์มีความเป็นกลาง แล้วนั้น เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทวงสาธารณสุข ก็ได้แต่งตั้ง นพ.ชาญวิทย์ ให้รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข และออกคำสั่งเรื่องการปฏิบัติราชการของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ระหว่างการชุมนุม ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ทุกแห่ง โดยขอให้ดูแลความปลอดภัยของสถานที่ราชการให้เกิดความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติราชการได้ตามปกติ และห้ามไม่ให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ลาหยุดราชการทุกประเภท ยกเว้นลาป่วย และห้ามเดินทางไปราชการต่างจังหวัด หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปราชการต่างจังหวัดให้ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจอนุญาตพิจารณาอย่างเคร่งครัด และให้มีการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วยทุกราย ยิ่งตอกย้ำภาพของการเป็นคนของนักการเมืองของ นพ.ชาญวิทย์
นับจากนั้นมาภาพของการชิงอำนาจกันเองภายในกระทรวงสาธารณสุขจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อปลัดกระทรวงฯ ออกมาแจกแจงหน้าที่ของรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 4 คน ก่อนจะหักหน้านพ.ชาญวิทย์ที่มีภาพลักษณ์เหมือนเป็นตัวแทนของฝ่ายรัฐบาล ด้วยการถอนหนังสือคำสั่งห้ามบุคลากรลาหยุดไม่ให้มีผลบังคับใช้ โดยให้เหตุผลว่า นพ.ชาญวิทย์ไม่มีอำนาจในการออกหนังสือดังกล่าว แม้รูปการณ์จะออกมาในลักษณะนี้แต่นพ.ชาญวิทย์ ยังยืนยันว่าไม่มีเรื่องการแย่งชิงอำนาจกัน เพราะระบบราชการมีระเบียบมีกรอบ มีจริยธรรม มีภารกิจทุกคนต้องปฏิบัติตาม ดังนั้นถ้าเป็นคำสั่งโดยชอบตามกฎหมายและเป็นประโยชน์ต่อทางราชการเป็นสิ่งที่ข้าราชการต้องปฏิบัติตาม และส่วนตัวก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งที่ถูกต้องเป็นประโยชน์ เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย แต่หากคำสั่งใดที่ไม่ชอบคงลำบาก อย่างไรก็ทุกวันนี้ ตนยังทำงานตามที่ได้รับมอบหมายตามปกติ ไม่เคยถูกลดงานหรือดึงงานกลับไป ส่วนความไม่เข้าใจกันตรงนี้จะมีการปรับความเข้าใจกันหรือไม่นั้น ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขเองจะมีกระบวนการเหล่านี้อยู่ ที่สำคัญเราเป็นพี่น้องกัน
ไม่ว่าวันที่ 2 ก.พ.ที่จะถึงนี้การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นหรือไม่ การเมืองไทยจะเดินไปสู่จุดใด รอยร้าวที่เกิดขึ้นภายในกระทรวงสาธารณสุขจะมีทางสมานเป็นเนื้อเดียวกันได้หรือไม่อาจจะต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการพูดกันโดยทั่วไปว่า โดยธรรมชาติบุคลากรด้านสาธารณสุขมีเป้าหมายเดียวกันคือดูแลสุขภาพของคนทุกคน และสิ่งที่มักจะได้ยินเสมอจากคนสาธารณสุข คือ “เราเป็นพี่น้องกัน” แต่ปรากฎการณ์ที่พบเห็นอยู่ตลอด จนแทบจะเป็นธรรมชาติของกระทรวงนี้ คือ มีชุดความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ และปะทะกันตลอดเวลา เพียงแต่ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งล่าสุดนี้ พวกเขาพักรบและหันมาจับมือ ลืมความบาดหมางกันชั่วคราวเท่านั้น
- 32 views