มติชน - เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.สมชาย แสงกิจพร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว ภายในการประชุมประจำปีโครงการ "ระบบเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ที่ยั่งยืนกับความมั่นคงทางสุขภาพ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรคและศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (US-CDC) ว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข และศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลกและในการพัฒนาระบบเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ ทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจจับสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนต่อเนื่อง 2 ระยะ รวม 10 ปี สำหรับปีนี้เป็นปีที่ 5 ของระยะที่ 2 ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในเดือนกันยายน พ.ศ.2557 ซึ่งโครงการนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทยมีการพัฒนา อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง เกิดการเชื่อมโยงของข้อมูลทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งได้สร้างเป็นเครือข่ายร่วมกับภูมิภาคต่างๆ ของโลก
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวอภิปรายหัวข้อ "ระบบการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ฯ:เส้นทางอนาคตของไทย" ว่า โครงการนี้ดำเนินการใน 12 พื้นที่ที่เป็นพื้นที่ชายแดนและเมืองท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ อาทิ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อ.แม่สอด จ.ตาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นอกจากนี้ ยังมี จ.ลพบุรี ประจวบคีรีขันธ์ หนองคาย สระแก้ว นนทบุรี และ กทม. เหมือนเป็นการตั้งป้อมยามไว้ใน 12 จุด เพื่อตรวจจับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เข้ามาในประเทศไทย ซึ่งใช้งบประมาณราว 10-12 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น เขตบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงควรพิจารณาให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณในการเฝ้าระวังเชื้อไข้หวัดใหญ่ในห้องปฏิบัติการ เพราะการเฝ้าระวังเหมือนเป็นการสกัดกั้น
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 25 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 1 view