กรุงเทพธุรกิจ - นักวิชาการเสนอรวมกองทุนประกันสังคมบัตรทอง เดินเครื่องลดเหลื่อมล้ำ 3 ข้อ สิทธิประโยชน์ต้องเท่าเทียม-อัตราการจ่ายเงินต้องเหมือนกัน-ผู้ป่วยจ่ายเงินเหมือนกัน
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เปิดเผยว่า 1 ปีที่ผ่านมาหากพิจารณาแล้วจะพบว่านโยบายลดความเหลื่อมล้ำยังไม่มีอะไรใหม่มากนัก จะมีเรื่องนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกสิทธิ แต่เป็นที่ทราบว่ายังมีปัญหาในแง่การปฏิบัติจริงตรงโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเก็บเงินผู้ป่วยอยู่ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบ ซึ่งต้องมีการดำเนินการแก้ไขต่อไป
แม้แต่ในเรื่องนโยบายฝากท้องฟรีทุกสิทธิก็เช่นกัน ข้อเท็จจริงฝากท้องได้ทุกสิทธิจริง แต่อัตราการจ่ายเงินของแต่ละกองทุนต้องจ่ายให้โรงพยาบาลกลับไม่เท่ากันอยู่ ถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยโดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่เท่ากันในภาพของระบบการบริหารจัดการ
นพ.พงศธร กล่าวว่า สำหรับปี 2557 หากจะพูดในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำการบริการสาธารณสุขนั้นคงเป็นเรื่องยาก เพราะขณะนี้มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง การจะเดินหน้าอะไรก็ยาก ยิ่งรัฐบาลก็ไม่นิ่ง แต่หากจะดำเนินการจริงๆ อยากเสนอ 3 ประเด็นไม่ว่ารัฐบาลใดมาก็ตาม คือ
1.สิทธิประโยชน์ต้องเท่าเทียมจริงๆ ในทุกกองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 2.อัตราการจ่ายเงิน หรือการจ่ายเงินชดเชยต่างๆ ให้โรงพยาบาล ทุกสิทธิทุกกองทุนต้องเหมือนกัน และ 3. นส่วนของผู้ป่วยถ้าต้องจ่ายเงินก็ต้องจ่ายเหมือนกัน ถ้าไม่จ่ายก็ต้องไม่จ่าย
ผู้มีสิทธิประกันสังคม ปัจจุบันยังต้องจ่ายเงินให้กองทุน แต่ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค และสิทธิสวัสดิการข้าราชการกลับไม่ต้องจ่าย ตรงนี้ยังไม่เป็นธรรม หากเป็นไปได้ต้องไม่จ่ายเหมือนกันทุกกองทุน
"การจะทำแบบนั้นได้คือ ต้องรวมสามกองทุนสุขภาพภาครัฐให้มาอยู่ด้วยกัน เพราะจะลดความเหลื่อมล้ำแต่ละกองทุน พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ในช่วงแรกอาจใช้วิธีบริหารกองทุนสุขภาพสองกองทุนก่อนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ และกองทุนประกันสังคม ส่วนกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ยังมีจำนวนน้อย ให้เริ่มดำเนินการในข้าราชการล็อตใหม่ที่เข้ามาแทน ส่วนข้าราชการล็อตเก่าให้ใช้รูปแบบเดิม" นพ.พงศธร กล่าว
ด้านน.ส.สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เป้าหมายของกลุ่มคือต้องการสร้างระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธี เชื่อว่าการรวมกองทุนประกันสุขภาพของประเทศไทยเป็นกองทุนเดียว เป็นขั้นตอนหนึ่งที่ทำให้เกิดมาตรฐานเดียว
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง หากรวมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและประกันสังคมจะมีผู้มีสิทธิรวมกันถึง 58 ล้านคน การรวมกองทุนจึงเป็นการบริการจัดการที่เป็นการรวมศูนย์ ภายใต้หลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เนื่องจากประกันสังคม เป็นกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว อัตราการใช้บริการรักษาสุขภาพต่ำ
ส่วนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีทั้งกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ที่มีการใช้บริการจำนวนมาก ทั้งนี้ เมื่อมีการรวมกองทุนแล้ว ในส่วนของสิทธิรักษาพยาบาลของผู้ประกันตน รัฐบาลควรจ่ายให้ด้วย ไม่ควรให้ผู้ประกันตนจ่ายสมทบเองเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและสิทธิสวัสดิการข้าราชการที่รัฐบาลจ่ายสนับสนุน
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงข้อเสนอของนักวิชาการที่ให้รวม 3 กองทุนสุขภาพเข้าด้วยกัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำมาตรฐานการให้บริการและค่าใช้จ่ายว่า การรวม 3 กองทุนสุขภาพเป็นเรื่องในอนาคต ที่รัฐบาลและผู้บริหารสปสช. กระทรวงการคลัง และสำนักงานประกันสังคม(สปส.) จะต้องมาหารือกันว่าจะให้มีการรวมกันหรือไม่
เพราะการมารวมกันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในเวลาอันสั้นและทำได้ง่ายๆ จะต้องเตรียมความพร้อมในหลายเรื่องเช่น ระบบและมาตรฐานการให้บริการ งบประมาณซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบรองรับจำนวนมหาศาล ทางรัฐบาลก็ต้องพิจารณาว่าพร้อมจะแบกรับภาระด้านงบประมาณหรือไม่ รวมทั้งต้องสอบถามผู้ประกันตนด้วยว่าต้องการอย่างไร
"แต่ละกองทุนมีการจัดทำกฎหมาย วัตถุประสงค์และกระบวนการดำเนินการต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกองทุน ดังนั้น การจะนำมารวมกันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ถือเป็นเรื่องระยะยาวที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับทั้ง 3 กองทุนต้องมาร่วมกันตัดสินใจและวางแผนเตรียมพร้อมรองรับ"นพ.สุรเดช กล่าว
สิทธิประกันสังคม จ่ายเงินให้กองทุน แต่บัตรทองกลับไม่ต้องจ่าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 มกราคม 2557
- 54 views