จากนโยบายบูรณาการลดความเหลื่อมหล้ำสามกองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการข้าราชการที่มีการขับเคลื่อนโดยรัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนมีการยุบสภา ลองมาดูสิว่ามีอะไรที่สำเร็จ และควรปรับปรุงอย่างไรบ้าง
นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เห็นว่า หากพูดถึงนโยบายที่โดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้นนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาไม่ถามสิทธิ กล่าวคือ ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สามารถเข้ารับการรักษาวิกฤตได้ทุกโรงพยาบาล ไม่ต้องจ่ายเงิน โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เป็นผู้สำรองจ่ายและเบิกกับกองทุนเจ้าของสิทธิ ซึ่งนโยบายนี้ถือเป็นนโยบายที่ดี แต่ในทางปฏิบัติเป็นที่ทราบว่ามีปัญหา โดยเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งก็ยังเก็บเงินผู้ป่วย เนื่องจากความเข้าใจไม่ตรงกันบ้างในคำว่าฉุกเฉิน รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ
ขณะที่การบูรณการการบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายก็ยังไม่ชัดเจนมากนัก เนื่องจากเป็นในเรื่องของความสะดวกในการเปลี่ยนสิทธิ ที่ยังคงได้รับการรักษาเท่าเดิม แม้แต่ในเรื่องนโยบายฝากท้องฟรีทุกสิทธิก็เช่นกัน ข้อเท็จจริงฝากท้องได้ทุกสิทธิจริง แต่อัตราการจ่ายเงินของแต่ละกองทุนต้องจ่ายให้โรงพยาบาลกลับไม่เท่ากันอยู่ ถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับผู้ป่วยโดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่เท่ากันในภาพของระบบการบริหารจัดการ
สำหรับปี 2557 หากจะพูดในเรื่องลดความเหลื่อมล้ำการบริการสาธารณสุขนั้นคงเป็นเรื่องยาก เพราะขณะนี้มีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง การจะเดินหน้าอะไรก็ยาก ยิ่งรัฐบาลก็ไม่นิ่ง แต่หากจะดำเนินการจริงๆ น่าจะเดินหน้าเรื่องการบูรณาการโรคมะเร็งสามกองทุน เนื่องจากเป็นโรคซับซ้อน รักษายาก และค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งแต่ละกองทุนยังมีความแตกต่างเรื่องนี้อยู่ เพราะอัตราการจ่ายกลุ่มโรคมะเร็งแต่ต่างกองทุนยังต่างกัน เรื่องนี้จึงควรให้ความสำคัญเช่นกัน
“หลักๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่ารัฐบาลใดมาก็ตาม มีอยู่ 3 ประเด็นที่ต้องคำนึง คือ 1. สิทธิประโยชน์ต้องเท่าเทียมจริงๆในทุกกองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 2.อัตราการจ่ายเงิน หรือการจ่ายเงินชดเชยต่างๆให้โรงพยาบาล ทุกสิทธิทุกกองทุนต้องเหมือนกัน และ 3. ในส่วนของผู้ป่วยถ้าต้องจ่ายเงินก็ต้องจ่ายเหมือนกัน ถ้าไม่จ่ายก็ต้องไม่จ่าย คือ ผู้มีสิทธิประกันสังคม ปัจจุบันยังต้องจ่ายเงินให้กองทุน แต่ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค และสิทธิสวัสดิการข้าราชการกลับไม่ต้องจ่าย ตรงนี้ยังไม่เป็นธรรม หากเป็นไปได้ต้องไม่จ่ายเหมือนกันทุกกองทุน” นพ.พงศธร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีผู้เสนอให้มีการรวมสามกองทุนมาตลอด นพ.พงศธร บอกว่า การรวมสามกองทุนสุขภาพภาครัฐให้มาอยู่ด้วยกัน เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคต จะช้าหรือเร็วเท่านั้น หลายประเทศก็มีการดำเนินการมาแล้ว เนื่องจากจะลดความเหลื่อมล้ำของแต่ละกองทุนได้ เพราะรวมมาอยู่ด้วยกันก็ต้องเหมือนกันหมด ที่สำคัญโรงพยาบาลเอกชนจะไม่สามารถเลือกได้ เนื่องจากปัจจุบันหากไม่รับสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือสิทธิประกันสังคม ก็ยังมีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการอยู่ ซึ่งดูเหมือนจะพูดง่ายแต่ทำยาก แต่ในช่วงแรกอาจใช้วิธีบริหารกองทุนสุขภาพ 2 กองทุนก่อนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ และกองทุนประกันสังคม ส่วนกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ยังมีจำนวนน้อย ให้เริ่มดำเนินการในข้าราชการล็อตใหม่ที่เข้ามาแทน ส่วนข้าราชการล็อตเก่าให้ใช้รูปแบบเดิม
นอกจากนี้ การลดความเหลื่อมล้ำในการบริการสาธารณสุข ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้น ข้อเท็จจริงควรสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกคนในประเทศไทย รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติด้วย และกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สถานะ คนกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทยมานาน แต่รอสถานะไทย ซึ่งอย่าลืมพวกเขา นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรมแล้ว ยังช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคมาสู่คนไทยได้ด้วย
เรื่องนี้ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และบอร์ดสปสช. เสริมว่า หากจะลดความเหลื่อมล้ำจริงๆ ต้องมีนโยบายที่ช่วยคนทุกคนในประเทศไทย ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น เห็นได้จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้แรงงานต่างด้าวและครอบครัว ซื้อบัตรประกันสุขภาพในราคากว่า 2 พันบาทโดยระบุว่าจะรวมการตรวจและการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีแก่แรงงานผู้ติดเชื้อ แต่ความเป็นจริงกลับไมได้ เพราะมีข้อจำกัดต่างๆ โดยเฉพาะการให้ยา โดยแรงงานผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี เนื่องจากโรงพยาบาลหลายแห่งไม่นับรวมในบัตรประกันสุขภาพ เพราะไม่มั่นใจว่าจะได้รับเงินคืนจาก สธ. ประกอบกับปัจจุบันไม่มีกฎระเบียบใดๆรองรับ
ขณะเดียวกันในส่วนของคำนิยามการใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีจากการทำซีแอล หรือ สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาที่ไทยสามารถผลิตยาต้านไวรัสฯในชื่อยาสามัญก็เป็นปัญหา เพราะที่ผ่านมากรมควบคุมโรค(คร.) ไม่มีการนิยามว่า ยาที่ผ่านการทำซีแอลจะใช้ได้เฉพาะคนไทย หรือคนทุกคนในประเทศไทยกันแน่ ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้แรงงานต่างด้าวไม่มีช่องทางรับยาเลย ต้องซื้อเอง
ในส่วนที่เดิมทีมีการได้รับงบประมาณจากกองทุนโลกเพื่อต่อสู้กับโรคเอดส์จะสนับสนุนงบฯในการซื้อยาต้านไวรัสเอชไอวี แต่ครอบคลุมเพียง 2,000 ราย ที่สำคัญโครงการนี้จะหมดอายุแล้ว ทำให้พวกเขาต้องพึ่งพาตัวเอง ทั้งๆที่การดูแลรักษาแรงงานกลุ่มนี้จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีมายังคนไทยได้ ซึ่งเคยหารือปัญหากับรองปลัด สธ.แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
“ที่ผ่านมาต้องช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการทอดผ้าป่ายาบ้าง โดยการขอรับยาจากผู้ป่วยที่มีอาการดีเพราะทานยาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับยาล่วงหน้า 7 วัน ซึ่งบางคนไม่ได้กินก็จะขอมาให้กับผู้ป่วยที่ไม่มีเงินซื้อ แต่ทำได้เพียง 30-40 คนเท่านั้น ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้ก็จะลดความเหลื่อมล้ำในการบริการสาธารณสุขได้อย่างแท้จริง” นายนิมิตร์ กล่าว
- 172 views