มติชน - ภก.จิระ วิภาสวงศ์ เภสัชกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลำพูน ให้สัมภาษณ์ในงานประชุมสมัชชาเภสัชกรรมไทย "100 ปีวิชาชีพเภสัชกรรมและการศึกษาเภสัชศาสตร์ : บทบาทเภสัชกรต่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 2" ว่า ขณะนี้พบปัญหาของวิชาชีพเภสัชกรรมเรื่องหนึ่งคือ เภสัชกรรับจ้างแขวนป้ายหน้าร้านยา โดยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่จริง ซึ่งแต่ละจังหวัดยอมรับว่ามีจำนวนไม่น้อย เช่น จ.ลำพูน ตรวจสอบเมื่อปี 2553 พบมากถึงร้อยละ 60 แต่เมื่อมีการตรวจเข้มงวดพบว่ามีการกระทำผิดน้อยลง ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะความเกรงกลัวโทษปรับ แต่กลัวถูกส่งเรื่องไปสภาเภสัชกรรม จนต้องถูกพักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นเวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี
"การกระทำผิดจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มงวด บางจังหวัดพบว่าแทบไม่มีการตรวจตราเลย เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ รู้จักมักคุ้นกันดี มีผลประโยชน์ร่วมด้วย เพราะเปิดร้านขายยาเอง แขวนป้ายเองเช่นกัน" ภก.จิระกล่าว และว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนเภสัชกรประจำร้านยา ซึ่งในอดีตจะให้เภสัชกรที่เป็นผู้แทนยาละแวกนั้นๆ มาอยู่รับหน้าเวลาพนักงานลง พื้นที่ตรวจ แม้จะดูเหมือนว่ามีเภสัชกรในร้านยาถูกต้อง แต่ความจริงถือว่าผิด เพราะเภสัชกรประจำร้านจะต้องเป็นเภสัชกรที่มีชื่อในใบอนุญาตเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงพบว่าทำกันเป็นขบวนการ ล่าสุด เมื่อเดือนธันวาคม 2556 มีการตรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีการรับจ้างมาอยู่หน้าร้าน ไปตรวจร้านที่ 1 กับร้านที่ 2 มีเภสัชกรคนเดียวกัน กรณีนี้สามารถเอาผิดได้ เพราะถือว่าเข้าข่ายการหลอกลวง
ภก.จิระกล่าวอีกว่า หากเภสัชกรประจำร้านไม่อยู่ร้าน จะต้องมีการ ทำเรื่องให้เภสัชกรมาอยู่ร้านแทนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ หาก เป็นร้านยาในเขตกรุงเทพฯ ต้องแจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา (อย.) ส่วนต่างจังหวัดต้องแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) โดยแจ้งล่วงหน้า 7 วัน และกำหนดให้ชัดว่าให้อยู่แทนตั้งแต่วันใด ถึงวันใด ดังนั้น ผู้ตรวจจะต้องเข้มงวด และทำเรื่องส่งสภาเภสัชกรรม เอาโทษทางจรรยาบรรณที่รุนแรง อีกทั้งแนะนำรณรงค์ให้เภสัชกรปิดร้านแบบประเทศญี่ปุ่น เช่น จะไปเสียภาษี ไปกินข้าว ต้องปิดร้านชั่วคราว
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 21 ม.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 68 views