สพฉ.เตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่และระบบสื่อสารรับมือการชุมนุมชัตดาวน์กรุงเทพ วอนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายหลีกทางให้รถพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยนำส่งโรงพยาบาลหากมีเหตุรุนแรง และ ย้ำ 3 ข้อ ให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ด้านสภากาชาดชี้อนุสัญญาเจนีวาระบุอย่างชัดเจนว่าผู้เข้าให้การช่วยเหลือทางการแพทย์ในทุกกรณีต้องได้รับความคุ้มครอง
วันที่ 9 มกราคม 2557 ที่ห้องประชุมชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติร่วมกับสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย จัดแถลงข่าวเรื่องการเตรียมในการรับมือต่อสถานการณ์การชุมนุมใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 13 มกราคมที่จะถึงนี้
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการชุมนุมใหญ่ที่จะเกิดในกรุงเทพมหานครวันที่ 13 มกราคมที่จะถึงนี้ว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติจะจัดทีมสื่อสารเพื่อติดตามสถานการณ์การชุมนุมอย่างใกล้ชิด และพร้อมในการประสานการช่วยเหลือกับกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) และกระทรวงสาธารณสุข หากมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ทั้งนี้ในการชุมนุมนั้นไม่สามารถคาดเดาเหตุการณ์ได้ว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นหรือไม่อย่างไร หากแต่ประชาชนทั่วไปทั้งผู้เข้าร่วมชุมนุมและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมก็ควรที่จะต้องเตรียมตนเองให้พร้อมอยู่เสมอ และเมื่อพบเห็นเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรมายังสายด่วน 1669 ได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง
เลขาสพฉ.กล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมก็ควรจะหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการชุมนุมและผู้ที่มีโรคประจำตัวก็ควรตรวจเช็คยาที่ตนเองจะต้องใช้ให้ครบถ้วนอยู่เสมอเพื่อหยิบยาใช้อย่างสะดวก ส่วนประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมนั้นควรศึกษาข้อมูลในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เช่นกรณีการชุมนุมในบางครั้งเจ้าหน้าที่มีการใช้แก๊สน้ำตา ดังนั้น สพฉ. จึงขอแนะนำขั้นตอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตาดังนี้ เมื่อมีการยิงแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมเกิดขึ้นผู้ชุมนุมควรหลีกเลี่ยงออกไปอยู่พื้นที่ที่ไม่มีควันแก๊สน้ำตา เพื่อป้องกันการสูดดมซ้ำ จากนั้นรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือในปริมาณมากๆ ทันที วิธีการล้างให้ปล่อยน้ำให้ไหลผ่านดวงตาเบาๆ นานสักระยะเพื่อให้น้ำล้างแก๊สน้ำตาออกให้หมด เพราะหากล้างน้ำแรงไปจะทำให้ดวงตาอักเสบหรือกระจกตาเสียหายได้ หลังจากล้างดวงตาเสร็จแล้วให้ล้างใบหน้า มือ ขา ด้วยสบู่ หรือน้ำเปล่าก็ได้ และควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ส่วนผู้ที่มีอาการทางลมหายใจ ควรรีบเข้าไปหาหน่วยปฐมพยาบาลที่อยู่ใกล้ๆ
นพ.อนุชากล่าวต่อว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในสถานการณ์การชุมนุมนั้นเราเน้นย้ำอยู่เสมอว่าเราทำงานด้วยความเป็นกลางและช่วยเหลือทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันแต่ที่ผ่านมามีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ฉุกเฉินถูกทำร้าย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่พึงปฏิบัติ 3 ข้อ คือ 1. จะต้องรายงานตัวต่อผู้รับผิดชอบในพื้นที่ทุกครั้ง 2.ต้องแสดงตัวให้ชัดเจนด้วย ชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือเสื้อกั๊ก หมวก ให้สังเกตได้ว่าเป็นผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน (กู้ชีพ) 3.หากผู้รับผิดชอบพื้นที่เตือนหรือแจ้งให้กลับสู่จุดนัดหมายก็ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พร้อมกันนี้ขอวิงวอนทุกฝ่ายว่า ให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้งเมื่อเห็นรถพยาบาลฉุกเฉินเปิดไฟ และสัญญาณเสียง โปรดให้ทางรถพยาบาลฉุกเฉินเข้า-ออกพื้นที่เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ป่วยฉุกเฉินได้อย่างทันเวลาด้วย
ด้านนพ.พิชิต ศิริวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ตามหลักของอนุสัญญาเจนีวาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกระบุอย่างชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นจะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับไหนบุคคลและคณะทำงานที่เข้าไปช่วยเหลือทางการแพทย์จะต้องได้รับความคุ้มครอง ดังนั้นเมื่อทีมแพทย์และทีมเจ้าหน้าที่กู้ชีพแสดงตัวอย่างชัดเจนแล้วอยากวิงวอนให้ทุกฝ่ายทีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมหลีกทางและเปิดทางให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เราทำงานด้วยความเป็นกลางและให้ความช่วยเหลือกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกันดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายเปิดทางให้พวกเราได้ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ด้วย สิ่งที่สำคัญที่ตนอยากฝากไว้คือไม่ว่าเราจะขัดแย้งกันขนาดไหน แต่เราควรจะมีเยื่อใยต่อกันเพราะเมื่อความขัดแย้งยุติลงเราควรจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
- 4 views