ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันสัดส่วนของประชากรสูงอายุ หรือมากกว่า 60 ปี ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 12% และมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นเป็น 20% ทำให้อีกปี 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์แบบ
ดารารัตน์ อานันทนะสุวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) บอกว่า ก่อนจะถึงเวลานั้นประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะนโยบายด้านสังคมจากภาครัฐ ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา เช่นบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศในยุโรป
ปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว วิกฤติแรงงานขาดแคลน ซึ่งนโยบาย ที่หลายประเทศเลือกใช้คือการขยายอายุเกษียณออกไปอีก 5 ปี เพื่อแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม การกำหนดนโยบายไม่ง่าย ดร.ดารารัตน์ ยกตัวอย่างประเทศฝรั่งเศส ที่ตัดสินใจใช้นโยบายต่ออายุเกษียณออกไป แต่ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้เกิดการต่อต้านจากประชาชน มีการเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ทำให้ประเทศไทยจำเป็น ต้องเริ่มคิดรูปแบบที่เหมาะสม ถ้ารัฐบาลต้องการขยายอายุแรงงาน ประเด็นที่ต้องมองคือประกันสังคมที่ต้องเข้ามาช่วย ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับประกันชราภาพ
"ในขณะเดียวกันคนที่ทำงานอยู่ใน ภาคเอกชน ภายใต้ประกันสังคม หากไม่มีการต่ออายุเกษียณ กองทุนก็จะไม่พอ จะทำอย่างไร ขณะที่การขยายอายุงาน อาจทำให้เกิดแรงต้านในกลุ่มคนทำงาน ที่ไม่สมัครใจ" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย สังคมสูงอายุ กล่าว
วันนี้ ประเทศไทยต้องเข้าใจว่า เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะเกิดอะไรขึ้น และการดูแลในอนาคตจะต้องทำอย่างไร ในสภาพปัจจุบันรูปแบบครอบครัวสมัยใหม่ได้เปลี่ยนไปเป็นครอบครัวเดี่ยว ผู้สูงอายุ ที่เกษียณต้องได้รับการดูแล ภายใต้นโยบายที่เหมาะสม ในต่างประเทศซึ่งเผชิญกับปัญหาเดียวกัน เริ่มต้นจากประเทศสหรัฐที่ได้ เดินหน้าศึกษาสุขภาพและการเกษียณ Health and Retirement Study (HRS) โดยสถาบันวิจัยสังคมของมิชิแกน ที่เริ่มทำ ตั้งแต่ปี 1994 จากนั้นจึงได้ขยายแนวคิด ไปยังประเทศในแถบยุโรป 14 ประเทศ ภายใต้ชื่อโครงการ Study Heath and Retirement in Europe (SHARE) รวมถึงโครงการในรูปแบบเดียวกันที่เม็กซิโก เกาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย
สำหรับประเทศไทยได้เริ่มต้นศึกษาปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยกลุ่มนักวิจัยไทยใช้ชื่อโครงการว่า Health Ageing and Retirement in Thailand (HART) ซึ่งอยู่ ในเครือข่ายเดียวกันในระดับนานาชาติ โดยเป้าหมายของโครงการคือการสร้างฐานข้อมูลที่มีความหลากหลายสามารถนำไปใช้ได้ในหลายมิติ
ดร.ดารารัตน์ บอกว่า ประเทศไทย ได้เริ่มต้นโครงการวิจัยในปี 2554 โดยเริ่ม เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 1,500 ตัวอย่าง ในลักษณะ Panel Data หรือการเก็บตัวอย่างซ้ำ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีใครทำ เนื่องจากเป็นการเก็บข้อมูลที่ทำได้ลำบาก แต่ผลลัพธ์ ที่ได้มีความแม่นยำมากกว่าวิธีการเก็บข้อมูลจากการสุ่มตัวใหม่ไปเรื่อยๆ
"Panel Data สำหรับโครงการจะใช้ วิธีเก็บข้อมูลตัวอย่างประชากรของประเทศ โดยใช้หลักสถิติสุ่มตัวอย่าง และการสัมภาษณ์คนที่อายุ 45 ปีขึ้นไปในแต่ละครัวเรือน โดยทุกรอบที่สำรวจจะกลับไปหาคนเดิม ซึ่งต่างจากการทำวิจัยปัจจุบันที่ใช้วิธีสุ่มตัวอย่าง สอบถามข้อมูลพื้นฐาน จากนั้น จะสุ่มตัวอย่างใหม่ไปเรื่อยๆ ทำให้ค่าเฉลี่ย ที่ได้ในแต่ละปี เช่นการสำรวจไอคิวเด็ก เพื่อบอกว่าเด็กไทยโง่ลงหรือฉลาดขึ้น ได้ผล ที่เชื่อถือได้ยาก" นักวิจัยอธิบาย
สิ่งที่ทีมวิจัยกำลังเดินหน้าคือการสร้างฐานข้อมูลกับคนกลุ่มเดียว แต่มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง 2 ปี ต่อ 1 ครั้ง เพื่อศึกษา การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม ช่วงอายุ และหาค่าเฉลี่ยในภาพใหญ่ในแต่ละช่วงอายุ เช่นผู้สูงอายุในวัยก่อนเกษียณ 45-59 ปี ผู้สูงอายุวัยต้น 60-69 ปี ผู้สูงอายุวัยกลาง 70-79 ปี และผู้สูงอายุวัยปลาย 80 ปีขึ้นไป โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 10 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการวิจัยดังกล่าวได้ตั้งเป้า กลุ่มตัวอย่าง อายุ 45 ปีทั่วประเทศไว้ที่ 5,600 ครัวเรือน ประมาณ 1 หมื่นคน ทั่วประเทศ โดยภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร ภาคอีสาน ขอนแก่น ยโสธร กรุงเทพฯ ปริมณฑล นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ภาคตะวันออก จันทบุรี ภาคตะวันตกกาญจนบุรี อุตรดิตถ์ และ ภาคใต้ กระบี่ สงขลา โดยเริ่มต้นเก็บข้อมูลเดือนต.ค.2556 คาดว่า จะแล้วเสร็จ ในเดือน ก.ย. 2557
ดร.ดารารัตน์ บอกว่า สิ่งที่ทีมวิจัยต้องการทราบ มี 7 มิติ ได้แก่ มิติทางประชากร ข้อมูลครัวเรือน มิติทางครอบครัวกับการ เกื้อหนุน มิติทางสุขภาพกาย ใจ และสุขภาพจิต มิติด้านการมีงานทำ มิติด้านรายได้รายจ่าย มิติทางทรัพย์สิน หนี้สิน มิติทางความคาดหวัง และความพึงพอใจในชีวิต "ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในเชิงนโยบาย ทำให้เห็นปริมาณคน ปริมาณเงินที่ต้องใช้ และผลกระทบลูกคลื่นอื่นๆ โดยในแง่นโยบาย ขึ้นอยู่กับว่าจะจับตัวแปลตัวใดใน 7 มิติ มาใช้ประโยชน์" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุกล่าว
ถ้าประชากรสูงอายุมากขึ้น ขณะที่ประชากรเด็กลดจำนวนลง คนในวัยทำงานน้อยลง เป็นผลให้อัตราการพึ่งพิงของ ประเทศจะสูงขึ้น การขยายอายุงานอาจ กระทบให้เด็กรุ่นหลังไม่มีงานทำ นายจ้าง ต้องปรับวิธีการจ้างงานอย่างไรให้เหมาะสม ในขณะที่ภาครัฐสนับสนุนการเออร์ลี่รีไทร์ กับนโยบายต่ออายุการทำงาน ซึ่งเป็นนโยบายที่ขัดกัน
ทั้งหมดนี้คือแรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้น หลังจากเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มตัว ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมาในอนาคตจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากการวิจัยเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ก่อนที่จะก้าวลึกลงไปในรายละเอียด เช่นเดียวกับที่ต่างประเทศเริ่มทำ โดยระหว่างการเก็บข้อมูลมีการตรวจเลือด เก็บดีเอ็นเอ ซึ่งจะทำให้ทราบปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ในอีกมิติหนึ่ง
นักวิจัยกล่าวทิ้งท้ายว่า ในต่างประเทศเริ่มพบว่าโรคเบาหวานในผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์กับปัญหาการได้ยิน ตลอดจน โรคหัวใจเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งจะ กลายเป็นปัญหาเชิงนโยบายสุขภาพที่สำคัญไม่แพ้การจัดการปัญหาแรงงานของประเทศในอนาคต
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 ธันวาคม 2556
- 28 views