100,000 ล้านบาท!!! เม็ดเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ่อคิวเสนอขอต่อรัฐบาลช่วงต้นปีม้าพยศ 2557 ทั้งประกาศว่าจะใช้เงินก้อนใหญ่นี้ในการยกมาตรฐานระบบสาธารณสุขของไทยภายใต้แผนเมกะโปรเจกต์พัฒนาระบบสาธารณสุขทั่วประเทศ
โดยแผนดังกล่าวแบ่งการลงทุนออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ลงทุนพื้นฐานในสถานบริการหรือโรงพยาบาล 33,000 ล้านบาท 2.ลงทุนในแผนบริการสุขภาพ (Service plan) 21,000 ล้านบาท และ 3.ลงทุนในโครงการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือ เมดิคัลฮับ 46,000 ล้านบาท รวมประมาณ 100,000 ล้านบาท มีระยะ เวลาดำเนินงาน 10 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2558
ในช่วง 3 ปีแรกของแผนนี้ จะดำเนินการในส่วนของการลงทุนพื้นฐานในสถานบริการหรือโรงพยาบาล และการลงทุนในแผนบริการสุขภาพ โดยกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดทำมาตรฐานเขตบริการสุขภาพ ยกระดับขีดความสามารถการบริการด้านสุขภาพในทุกเขตสุขภาพ 12 แห่งทั่วประเทศ เป้าหมายเน้นการลดอัตราการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตให้ลดลงร้อยละ 10 โดยเฉพาะในกลุ่มโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะต้องมีศูนย์อยู่ในภูมิภาค ให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงระบบบริการได้ร้อยละ 99 รวมทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของภาครัฐ และค่ารักษาที่ประชาชนจ่ายเอง
เบื้องต้น สวรส. ได้เสนอ 4 กลยุทธ์เพื่อลดช่องว่างของระบบสุขภาพ ที่เรียกว่า ASAP
กลยุทธ์ที่ 1 A : All in one area health เช่น ในพื้นที่ 1 เขตบริการสุขภาพอย่างน้อย 1 แห่ง มีศูนย์การบริการสุขภาพแบบศูนย์รวมที่สามารถให้บริการการรักษาในระดับที่สูงกว่าตติยภูมิได้หรือเรียกว่า “Super-excellence” เช่น มีศูนย์มะเร็งที่พร้อมในการฉายแสง การทำเคมีบำบัด หรือพร้อมในการรักษาโรคที่เกิดจากภาวะ Stroke เช่น หลอดเลือดสมองที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เป็นต้น
กลยุทธ์ที่ 2 S : Satellite OPD เช่น การพัฒนาให้มีศูนย์รับผู้ป่วยนอกกระจายอยู่ในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่โรงพยาบาลใหญ่ เพื่อเป็นการลดการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลใหญ่ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย และเป็นการลดความแออัดของโรงพยาบาล
กลยุทธ์ที่ 3 A : Ambulatory mobile OR Team เช่น จากที่ผ่านมาในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) มีเครื่องมือพร้อมในการผ่าตัด แต่ด้วยความกังวลต่อการถูกฟ้องร้อง เสนอให้เขตบริการสุขภาพได้พัฒนาทีมผ่าตัดเคลื่อนที่ส่วนกลางที่มีศัลยแพทย์เฉพาะด้าน หมอดมยา พยาบาลดูแลก่อนและหลังผ่าตัด โดยโรงพยาบาลจะต้องกำหนดรายชื่อผู้ป่วยที่ต้องได้รับการผ่าตัดแบบไม่เร่งด่วนเพื่อรอเข้ารับการผ่าตัดใน รพช. เขตพื้นที่ใกล้บ้านตนเอง เป็นต้น
และกลยุทธ์ที่ 4 P : Public private partnerships (PPP) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย จากการกระจายอำนาจให้กับผู้บริหารเขตสุขภาพมีการเจรจากับโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ในการบริการเตียงผู้ป่วยกรณีโรงพยาบาลของรัฐไม่เพียงพอ โดยผู้ป่วยไม่ต้องเสียเงินจ่ายในราคาโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ร่วมกัน เช่น เครื่องสแกนสมอง MRI เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ครบถ้วนตามมาตรฐานสากล
หันกลับมาในส่วนของแผนการดำเนินงานเมดิคัลฮับ ซึ่ง สธ. มอบให้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นเจ้าภาพ โดยให้เป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง เน้นการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความเก่งทางการแพทย์ สนับสนุนโรงเรียนแพทย์และนักวิชาการให้มีชื่อเสียงในนานาชาติ รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์ที่มีความเก่งทางด้านต่างๆ ตลอดจนจัดงานเสวนาระดับนานาชาติบ่อยๆ เพื่อทำให้ไทยเป็นที่รู้จักของนานาชาติ
แผนเมกะโปรเจกต์พัฒนาระบบสาธารณสุขนี้ ยังรวมไปถึงการปฏิรูประบบสาธารณสุขด้วย ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง
1.การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นกลไกด้านสุขภาพของชาติ หรือ national health centre โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)ให้การยอมรับแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะออกเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือกฎกระทรวง รวมถึงจะมีศูนย์ข้อมูลด้านสุขภาพเป็นแห่งเดียวของประเทศ หรือ National health information centre เพื่อเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลการใช้บริการสุขภาพของประชาชนทุกสิทธิทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ ประกันสังคม หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการข้าราชการ
2.ปฏิรูปกลไกภายในกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมต่างๆทั้ง 8 กรม
และ 3.ปฏิรูปการทำงานในส่วนของภูมิภาค โดยใช้รูปแบบของเครือข่ายบริการแบบไร้รอยต่อ เป็นการทำงานประสานความร่วมมือและใช้ทรัพยากรร่วมกันของสถานพยาบาลภายในเขตบริการเดียวกัน รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างร่วมกัน ทำให้การใช้งบประมาณลดลง
ล่าสุดแม้ว่ารัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะประกาศยุบสภาเนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ และเกิดคำถามตามมาว่าโครงการเมกะโปรเจกต์แสนล้านบาทของกระทรวงสาธารณสุขจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่นั้น
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ยังคงยืนยันว่า แผนงานตามโครงการนี้ได้ออกมาแล้ว หลังจากนี้จะต้องเป็นเรื่องของข้าราชการประจำที่จะดำเนินการต่อ ในการทำข้อมูลพื้นฐานเพื่อเตรียมเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ ส่วนตัวแล้วเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี และควรจะเดินหน้าต่อนพ.วชิระ
ขณะที่ในส่วนของข้าราชการประจำก็ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าจะต้องเดินหน้าตามแผนพัฒนาระบบสาธารณสุขอย่างแน่นอน โดย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมากว่า 1 ปีแล้ว ยอมรับว่ายังคืบหน้าไปไม่มากนัก เพราะการปฏิรูปเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา 5–10 ปี และจะมีการประเมินผลทุก 3 เดือน ยืนยันว่าการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวจะทำให้คุณภาพในการให้บริการประชาชนดีขึ้น การเข้าถึงบริการของประชาชนง่ายขึ้น สะดวกขึ้น สามารถสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพให้กับประชาชนได้ และประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพมีความคุ้มค่าคุ้มทุนมีประสิทธิภาพได้
หากมองในมุมหนึ่งการดำเนินการได้จริงในภาพรวมตามแผนการพัฒนาระบบสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ก็น่าจะสามารถช่วยทำให้ความฝันของคนไทยในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพเป็นจริงขึ้นมาได้ในระดับที่น่าพอใจ
รวมถึงการให้สถานพยาบาลใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อหวังให้งบประมาณค่าใช้จ่ายในแต่ละสถานพยาบาลลดลง เท่ากับเป็นการช่วยปลดหนี้ให้สถานพยาบาลบางแห่งไปในตัว เนื่องจากผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดยังพบสถานพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องถึง 169 แห่ง และเป็นสถานพยาบาลที่ขาดสภาพคล่องเรื้อรัง 20 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งที่เห็นต่างก็ฝากแง่คิดที่ไม่ควรมองข้ามสำหรับการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวของกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้ว่าโดยภาพรวมจะดูดี แต่หากเจาะลึกลงไปแล้ว จะพบว่ายังไม่มีการรับฟังความเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์ทุกภาคส่วนอย่างแท้จริงนพ.สมปราชญ์
นพ.สมปราชญ์ หมั่นจิตร ผอ.โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช จ.เชียงราย แพทย์ดีเด่นในชนบทของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ประจำปี 2555 ยอมรับว่า แผนดังกล่าวโดยหลักการถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังขาดการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะจากภาคประชาชน ทั้งที่มีความจำเป็น และแผนดังกล่าวก็ทำเพื่อประชาชน นอกจากนี้ในส่วนของโรงพยาบาลชุมชนก็ยังถือว่ามีส่วนร่วมน้อยเมื่อเทียบกับสัดส่วนจากโรงพยาบาลจังหวัดที่สามารถส่งตัวแทนเข้าไปนั่งในทุกแห่งของจังหวัดได้ แต่โรงพยาบาลชุมชนแต่ละจังหวัดกลับส่งตัวแทนได้ประมาณ 2-3 คนเท่านั้น
“การพัฒนาดังกล่าวเป็นการทำเพื่อประชาชนและโรงพยาบาลชุมชนก็อยู่ใกล้กับประชาชนมากที่สุด จะรู้ปัญหาของประชาชนดีกว่าใคร แต่พอกลุ่มโรงพยาบาลชุมชนไม่ได้มามีส่วนร่วมก็ทำให้มองได้ว่ามาจากการที่โรงพยาบาลชุมชนมีปัญหากับกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่ความจริงแล้วควรมีหลายกลุ่มเข้ามาร่วมเพื่อสามารถทำให้นโยบายสามารถตรวจสอบได้” นพ.สมปราชญ์กล่าวย้ำ
สิ่งที่ “ทีมข่าวสาธารณสุข” อยากฝากไปยังกระทรวงสาธารณสุข คือ โครงการที่ต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณมหาศาลถึง 100,000 ล้านบาท แต่กลับหลงลืม ละเลย กลไกในการตรวจสอบความทุจริต นั่นย่อมเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มผลประโยชน์ที่หวังเขมือบเม็ดเงินใส่กระเป๋า รวมไปถึงนักการเมืองเลวๆ ใช้เป็นช่องทางเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ได้โดยง่ายดาย เพราะเงินมหาศาลขนาดนี้ย่อมไม่ต่างจากกระดูกชิ้นโตที่ล่อให้นักการเมืองที่คิดถึงเพียงแค่ผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องเข้ามาฮุบเงินก้อนใหญ่จากโครงการ
เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดที่จะเข้ามาบริหารงานต่อ เมื่อได้เห็นงบประมาณที่จะดำเนินการในโครงการนี้แล้ว คงพร้อมที่จะอนุมติงบประมาณเพื่อสานต่อโครงการอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้มองว่านักการเมืองทุกคนเป็นคนไม่ดี แต่หากไม่มีกระบวนการในการตรวจสอบแล้วย่อมเท่ากับเปิดช่องให้นักการเมืองที่ไม่ดี เข้ามาหาผลประโยชน์ได้โดยง่ายดาย
และนั่นย่อมหมายถึงเม็ดเงินงบประมาณ 100,000 ล้านบาท จะหมดความหมาย และสูญเสียไปกับน้ำมือนักการเมืองที่มุ่งหาประโยชน์ให้ตนเองมากกว่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ
อย่าให้ “ปีม้าพยศ” ต้องเป็นอีกหนึ่งปีที่จะสร้างความชอกช้ำ ซ้ำเติมคนไทยและประเทศชาติ ที่ฝันจะได้เข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมอีกเลย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 31 ธันวาคม 2556
- 3 views