เมื่อพูดถึงผลกระทบของแรงงานข้ามชาติระดับล่าง 3 ล้านคนเศษ ต่อระบบบริการสุขภาพของไทย หนึ่งในประเด็นที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันเสมอคือ จำนวนแรงงานข้ามชาติมาใช้บริการมากกว่าคนในพื้นที่ ทำให้งบค่าใช้จ่ายจำนวนมากหมดไปกับการรักษาแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ เป็นเหตุให้โรงพยาบาลมีหนี้ค้าง ขณะที่บุคลากรด้านสาธารณสขุก็ไม่เพียงพอ โจทย์สำคัญในเรื่องนี้สำหรับสังคมไทยคือ จะหาทางออกที่เหมาะสมอย่างไร เพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบบริการสุขภาพกับทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติ
แต่ไม่เพียงแรงงานข้ามชาติระดับล่างจำนวนหนึ่งที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ หากยังมีประชากรที่มักเรียกกันว่า “คนต่างด้าว” อีกหลายแสนคนที่เข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพใดๆ เลย ดังนั้นแล้ว คำถามก็คือระบบบริการสุขภาพ รัฐมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร? ตัวปัญหาจริงๆ มีอะไรบ้าง?
แรงงานข้ามชาติไร้ทักษะจากประเทศเพื่อนบ้านมีกี่กลุ่มกันแน่?
แม้ประเทศไทยเริ่มมีวิธีการจัดการแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านคือ พม่า ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่ พ.ศ.2539 แต่ในปี 2547 ถือเป็นครั้งแรกของมติคณะรัฐมนตรีที่นอกจากผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิอยู่อาศัยและขออนุญาตทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราวแล้ว ยังผ่อนผันให้ “ผู้ติดตาม” มีสิทธิอยู่ได้ชั่วคราวเช่นกัน ปัจจุบันสามารถแบ่งแรงงานข้ามชาติระดับล่างออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
(1) แรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนมักเรียกว่า “กลุ่มผ่อนผัน” หมายถึงแรงงานที่จดทะเบียนเพื่อได้สิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราว (ทร.38/1) และได้รับหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 00 แรงงานเหล่านี้ต้องผ่านการตรวจสุขภาพก่อนจึงจะขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงานได้ โดยได้รับหลักฐานจากหน่วยงานของรัฐ 3 ฉบับคือ ใบอนุญาตให้พำนักอาศัยชั่วคราว (ทร.38/1) บัตรประกันสุขภาพ (ราคา 1,300 บาท) และใบอนุญาตทำงาน
(2) แรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ถูกเรียกสั้นๆ ว่า “กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ” ตั้งแต่ พ.ศ.2547 รัฐบาลได้วางมาตรการปรับสถานะของแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมายที่จดทะเบียน (กลุ่มผ่อนผัน) ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้มีสถานะเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย และเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่กลุ่มที่ทำงานในกิจการที่ได้รับการยกเว้นจากประกันสังคมจะใช้ระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่ต้องซื้อประกันสุขภาพเป็นรายปีแทน
(3) แรงงานข้ามชาติที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เรียกสั้นๆ ว่า “กลุ่มนำเข้า” เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-พม่า ไทย-กัมพูชา และไทย-ลาว ใน พ.ศ.2545 และ 2546 ตามลำดับ จัดทำกรอบการจ้างงานสำหรับแรงงานข้ามชาติไร้ฝีมือ ที่จะนำเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่าง “ถูกกฎหมาย” ภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้ แรงงานจะได้รับสวัสดิการสังคม สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาลและสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่นเดียวกับแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ
(4) แรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้จดทะเบียน หมายถึงแรงงานที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ไม่ว่าจะมีเอกสารการพำนักชั่วคราว (ทร.38/1) หรือไม่ก็ตาม เรียกกันว่า “กลุ่มใต้ดิน” จำนวนแรงงานกลุ่มนี้มีแต่ตัวเลขประมาณการว่ามีอยู่ 2 ล้านคน
"คนต่างด้าว"ที่อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ถูกคุ้มครองในระบบบริการสุขภาพ
เมื่อพูดถึง “คนต่างด้าว” ที่อยู่ในประเทศไทยและไม่อยู่ในระบบการคุ้มครองด้านสุขภาพใดๆ เลย แรงงานข้ามชาติกลุ่ม “ใต้ดิน” เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนต่างด้าวกลุ่มนี้เท่านั้น เพราะกฎหมายสัญชาติของไทยให้ความหมาย “คนต่างด้าว” ว่าคือคนที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่เมืองไทยมาตั้งแต่เกิด ไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลย หรือคนต่างชาติที่อยู่ประเทศไทยมานานแล้ว ได้แก่ ชนกลุ่มน้อย ชาวเขาคนไร้รัฐ คนไร้รากเหง้า และคนไร้สถานะทางทะเบียน ซึ่งอาจเรียกรวมกันว่า “ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” ปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
(1) คนต่างด้าวที่ยังไม่มีสัญชาติไทย แต่อยู่อาศัยในประเทศไทยมานาน และได้รับการสำรวจตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ประกอบด้วย กลุ่มชนกลุ่มน้อยตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ได้รับเลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 6 และบุตรหลานของกลุ่มนี้ได้รับเลข 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 7 ส่วนใหญ่ของคนกลุ่มนี้เพิ่งได้รับหลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.2553 ที่ประกาศนโยบายคืนสิทธิด้านการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ที่ยังมีปัญหาเรื่องสถานะ จำนวน 457,409 คน กระจายอยู่ในพื้นที่บริการของโรงพยาบาลชายแดน 172 แห่งใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป โดยตั้งกองทุนขึ้นมาเป็นการเฉพาะ มีสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ดูแล
อย่างไรก็ตาม กองทุนดังกล่าวนี้ไม่ครอบคลุมคนไร้รัฐ/ไร้สัญชาติที่ไม่เข้าข่ายตามมติคณะรัฐมนตรี แม้จะถูกนับจดในทะเบียนบุคคลแล้วก็ตาม
(2) กลุ่มไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ.2548 (เลขประจำตัว 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 0) แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มย่อย คือ (ก) กลุ่มที่ตกหล่นจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนชนกลุ่มน้อยเดิม (ข) กลุ่มนักเรียนนักศึกษาต่างด้าวในสถานศึกษา (ค) กลุ่มคนไร้รากเหง้า และ (ง) กลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ โดยมีเพียงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในสถานศึกษา กลุ่มคนไร้รากเหง้า และกลุ่มผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศเท่านั้น ที่จะได้รับหลักประกันสุขภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ส่วนเด็กในกลุ่มตกหล่นจากการสำรวจและจัดทำทะเบียนชนกลุ่มน้อยเดิม ยังไม่ได้รับหลักประกันสุขภาพใดๆ
(3) บุตรและผู้ติดตามอายุไม่เกิน 15 ปีของแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนหรือพิสูจน์สัญชาติแล้ว เด็กๆ ลูกหลานแรงงานข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่มา หรือเกิดในประเทศไทย ได้รับการผ่อนผันให้อยู่อาศัยเป็นการชั่วคราวตามพ่อแม่ของตน แต่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ยกเว้นเป็นผู้ติดตามที่ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 26 เมษายน 2554 เท่านั้นที่มีมาตรการให้ซื้อประกันสุขภาพ
แรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล กับระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย
เห็นได้ว่ายังมี “คนต่างด้าว” อีกหลายกลุ่มที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพใดๆ คุ้มครอง (ดูตาราง) นายแพทย์ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ นักวิจัยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ประเมินจำนวนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิทางสุขภาพ (ชนกลุ่มน้อย ชาวเขา คนไร้รัฐ ผู้อพยพลี้ภัยตามค่ายอพยพชายแดนไทย-พม่า แรงงานข้ามชาติกลุ่มใต้ดิน และกลุ่มคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน) ว่ามีประมาณ 2 ล้านคน ประชากรกลุ่มนี้คาดได้ว่ามีเด็กรวมอยู่ด้วยมากกว่า 1 แสนคน เนื่องจากในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว ในปี 2555 มีรายงานคาดประมาณจำนวนเด็กต่างด้าว ลูกหลานของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ว่าสูงถึงประมาณ 3 หมื่นคน
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันสอดคล้องกันว่า หากแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลเจ็บป่วยไม่มาก มักซื้อยากินเอง ยกเว้นเมื่อเจ็บป่วยหนัก หรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง จึงจะมาใช้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐ โดยจ่ายค่ารักษาเอง แต่ในกรณีที่ไม่สามารถจ่ายค่ารักษาได้จริงๆ หรือจ่ายได้บางส่วน ทางโรงพยาบาลอาจพิจารณาใช้เงินอุดหนุนมาชดเชยได้ ในทางปฏิบัติพบว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอาจไม่เต็มใจนักในการให้บริการต่อประชากรชายขอบที่ไร้สิทธิทางสุขภาพ เพราะรู้สึกว่ามีภาระเพิ่มขึ้น รวมถึงอุปสรรคการสื่อสารด้วยภาษาที่ต่างกัน
ผลการศึกษาสถานการณ์ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในสถานบริการของรัฐเมื่อปี 2555 ยืนยันว่าสภาพปัญหาที่โรงพยาบาลรัฐต้องเผชิญยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่เพิ่มเข้ามาคือ ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดจากการเปิดประชาคมอาเซียนใน พ.ศ.2558
ที่ผ่านมาการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ คำนวณจากฐานความต้องการของประชากรที่เป็นพลเมืองไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น การมีแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มบุคคลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิเข้ามาสู่ระบบบริการสุขภาพ จึงเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับบุคลากรในระบบสุขภาพไทยอย่างไม่อาจปฏิเสธได้
ปัญหาที่โรงพยาบาลเผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน
1.บุคลากรไม่เพียงพอให้บริการทั้งคนไทยและต่างด้าว
2.มีปัญหาการสื่อสารกับคนต่างด้าว
3.อัตราการครองเตียงของผู้ป่วยในของคนต่างด้าวสูง โรงพยาบาลไม่สามารถเก็บเงินจากผู้ป่วยเหล่านี้ที่เป็นแรงงานใต้ดิน เพราะไม่มีหลักประกันสุขภาพ
4.แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม ส่วนใหญ่ขาดความเข้าใจเรื่องการเลือกสถานพยาบาลและการใช้สิทธิ
5.พบทั้งโรคติดเชื้อและโรคเรื้อรังในแรงงานข้ามชาติ เช่น วัณโรคที่ดื้อยา โรคเท้าช้าง มาลาเรีย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคเอดส์ เป็นต้น
6.อนามัยแม่และเด็กของคนต่างด้าวมีปัญหา พบว่าทารกแรกคลอดต้องเข้าไปอยู่ในห้องดูแลพิเศษจำนวนมาก และมารดาจำนวนหนึ่งก็ต้องอยู่ในห้องดูแลพิเศษเช่นกัน เพราะติดเชื้อบาดทะยัก
ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดจากการเปิดประชาคมอาเซียนใน พ.ศ.2558
1.ศูนย์พักพิงชั่วคราวจะถูกยุบ บุคลากรสาธารณสุขจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่เคยช่วยให้บริการสุขภาพระดับต้นในศูนย์พักพิงจะถอนตัวไป ทำให้ประชากรที่เคยอาศัยในศูนย์ฯ รวมกับประชากรในเขตประเทศเพื่อนบ้านจะข้ามมาใช้บริการสถานบริการสาธารณสุขของไทย
2.โรคระบาดต่างๆ ที่แฝงอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดนอาจเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น
นโยบายกระทรวงสาธารณสุขต่อการให้บริการแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล
เมื่อเริ่มผ่อนผันให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าเมืองตั้งแต่ปี 2539 นั้น กล่าวได้ว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่มีนโยบายเฉพาะในการให้บริการและรักษาพยาบาลประชากรที่ไร้สิทธิทางสุขภาพ การดำเนินงานในเรื่องนี้ของ สธ. ทำตามความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายจากมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแต่ละปี งานหลักคือ การตรวจร่างกายแรงงานข้ามชาติก่อนออกใบอนุญาตทำงาน โดยปี 2541 เริ่มบังคับให้แรงงานข้ามชาติทุกคนซื้อบัตรประกันสุขภาพในราคา 500 บาท และปรับราคาขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 1,300 บาท ในปี 2547 และยืนในราคานี้จนถึงปีล่าสุดคือ พ.ศ.2555
อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้วางมาตรการสำหรับประชากรข้ามชาติ 2 ด้านคือ จัดระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อในกลุ่มแรงงานต่างชาติ 8 และจัดบริการวางแผนครอบครัว ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และส่งเสริมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในจังหวัดชายแดนและจังหวัดชั้นในที่มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ชัดเจน การให้บริการต่างๆ นี้ให้รวมถึงสมาชิกในครอบครัวของแรงงานข้ามชาติ และครอบคลุมทั้งแรงงานที่มีและไม่มีใบอนุญาตทำงาน
พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว อาสาสมัคร สาธารณสุขต่างด้าว : บุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่ถูกมองข้าม
เกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ สธ.จะไม่มีนโยบายหรือยุทธศาสตร์เฉพาะต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล แต่ได้พัฒนาระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับประชากรกลุ่มนี้เป็นลำดับ หนึ่งในนวัตกรรมของการบริการคือ การพัฒนาพนักงานสาธารณสุขต่างด้าว (พสต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว (อสต.) ทำให้การบริการด้านสุขภาพต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้มีปัญหาสถานะบุคคลดีขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เนื่องจาก พสต.และ อสต. ในฐานะผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาล ได้ช่วยเผยแพร่ความรู้และเฝ้าระวังในเรื่องโรคติดต่อในชุมชนของแรงงานข้ามชาติ
ปัจจุบัน สถานพยาบาลในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติอยู่หน้าแน่นจะจ้าง พสต.ด้วยเงินจากระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวในแต่ละปี และอบรมส่งเสริมการทำงานของ อสต.ในชุมชนและสถานประกอบการโดยใช้งบส่งเสริมป้องกันจากประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวเช่นกัน แต่บุคลากรในรูปแบบ พสต. และ อสต.ยังเป็นเพียงทางเลือกของแต่ละสถานพยาบาลที่จะจัดจ้าง พสต. หรือพัฒนา อสต.ในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายของกระทรวงไม่ได้คัดค้าน
ณ วันนี้ สถานพยาบาลซึ่งเดิมใช้เงินจากงบประมาณในประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวจ้าง พสต. อาจต้องประสบปัญหาในเรื่องงบการจ้าง เพราะหลังจากนี้ไปแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมให้จ้าง พสต. ทั้งยังไม่มีงบสำหรับงานส่งเสริมป้องกันในสถานพยาบาลที่ดูแลแรงงานข้ามชาติ ซึ่งแต่เดิมได้รับจากประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว
ปัญหาแรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคม
ดังกล่าวแล้วว่า แรงงานข้ามชาติ “กลุ่มพิสูจน์สัญชาติ” และ “กลุ่มนำเข้า” ต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม ตัวเลขรวมเมื่อปลายปี 2555 มีอยู่ประมาณ 8 แสนคน แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติพบว่า มีแรงงานเข้าสู่ประกันสังคมน้อยกว่าครึ่ง ดังที่กระทรวงแรงงานระบุเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ว่ามีแรงงานข้ามชาติผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วจำนวน 530,156 คน ในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมเพียง 217,972 คน หรือร้อยละ 41 เท่านั้น และแม้จะเข้าสู่ประกันสังคมแล้ว ในทางปฏิบัติก็ยังมีปัญหามากมาย ดังเช่น
(1) ปัญหาจากนายจ้าง นายจ้างหลายบริษัทส่งเงินสมทบล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งเมื่อครบกำหนดการชำระแล้วต้องนำเงินสมทบมาจ่ายภายใน 15 วัน หากเลยกำหนดจะโดนปรับดอกเบี้ย นายจ้างบางคนที่จ้างแรงงานจำนวนมากจึงแก้ปัญหาด้วยการไม่ส่งเงินสมทบเลย เพราะไม่อยากเสียค่าปรับจำนวนมาก
(2) ปัญหาจากระบบการเข้าถึง เป็นข้อจำกัดในการเข้ารับการรักษาพยาบาลระหว่างรอบัตรประกันสังคม เนื่องจากต้องเข้ารับการรักษาเฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น จึงจะสามารถเบิกคืนเงินย้อนหลังที่จ่ายไปได้ทั้งหมด รวมทั้งความล่าช้าในการออกใบอนุญาตทำงาน ทำให้แรงงานใช้สิทธิในการเบิกจ่ายสิทธิประกันสังคมได้ล่าช้า
(3) ปัญหาจากตัวแรงงานข้ามชาติ ซึ่งมักไม่ทราบสิทธิต่างๆ ที่พึงมีพึงได้ ขาดความเข้าใจในกฎเกณฑ์ระเบียบ เงื่อนไขต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งเป็นปัญหามากขึ้นหากแรงงานที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้
นอกจากนี้ยังพบว่าตั้งแต่แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่ระบบประกันสังคม อัตราการพบโรคทั้งวัณโรคและซิฟิลิสก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และการที่แรงงานจะได้รับเงินตอบแทนจากการคลอดรายละ 13,000 บาท ซึ่งก็คือการส่งเสริมการตั้งครรภ์และคลอดทางอ้อม พบว่ากลุ่มประกันสังคมตั้งครรภ์สูงกว่ากลุ่มประกันสุขภาพของ สธ.ถึง 4 เท่า
ทางออกที่เป็นธรรมและเป็นไปได้กำลังจะมาถึง
สิ่งที่ท้าทายในการบริหารจัดการด้านสุขภาพของคนต่างด้าวและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยคือการปรับวิธีคิด ให้มองว่าคนต่างด้าวและแรงงานข้ามชาติ คือประชากรส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคมไทย และตั้งแต่ พ.ศ.2548 เจ้าหน้าที่รัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติกลุ่มหนึ่งได้พยายามผลักดันยุทธศาสตร์การบริการสาธารณสุขแรงงานต่างด้าว เสนอให้มีการจัดระบบกองทุนประกันสุขภาพต่างหากสำหรับแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม ดูแลโดยกระทรวงสาธารณสุข และอาจขยายการซื้อประกันสุขภาพนี้ไปยังผู้ติดตามและแรงงาน “กลุ่มใต้ดิน” ด้วย แต่ชะงักไป เนื่องจากรัฐประหารในปี 2549
ต่อมาในปี 2555 สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ในฐานะองค์กรที่ศึกษาผลกระทบต่อระบบบริการสุขภาพจากแรงงานข้ามชาติและผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ได้จัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และที่อาจเกิดต่อเนื่องไปในอนาคตอันใกล้ต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ ดังนี้
(1) ศึกษาระเบียบเพื่อรองรับการจ้างงานบุคลากรต่างชาติมาให้บริการในประเทศไทย โดยเฉพาะการจ้างล่ามในลักษณะของลูกจ้างชั่วคราวของรัฐบาล และการนำเข้าแพทย์และพยาบาลจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาให้บริการคนต่างด้าว ในลักษณะการออกใบอนุญาตให้เฉพาะกรณีในเขตพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนดชัดเจน
(2) พัฒนาระบบค่าตอบแทนตามภาระงาน เพื่อสนองตอบภาระงานหนักของบุคลากร
(3) สำรวจและวิจัยเพื่อคาดการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวและการขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพจากภาระงาน เพื่อนำไปใช้วางแผนการผลิตบุคลากรและแก้ไขปัญหาในอนาคต
ทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่คนต่างด้าวทั้งหมดที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยคนต่างด้าวกลุ่มนี้จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สัมภาษณ์เมื่อ 15 มีนาคม 2556 ว่า ในเดือนพฤษภาคม 2556 จะเปิดให้แรงงานข้ามชาติสามารถซื้อประกันสุขภาพจาก สธ.ได้ ทั้งตัวแรงงานและบุตรหลาน โดยไม่เลือกว่าผู้ทำประกันจะเป็นผู้เข้าเมืองถูกหรือผิดกฎหมาย โดยหากเป็นเด็ก คิดเบี้ยประกันวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท รวมการตรวจโรค แต่สำหรับผู้ใหญ่ต้องผ่านการตรวจโรค 600 บาทก่อน จึงจะสามารถซื้อบัตรประกันในราคา 1,300 บาทได้
ที่น่าติดตามคือ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า มีโครงการของ สธ.ที่พยายามขยายการประกันสุขภาพไปยังประชากรชายขอบที่อยู่ในประเทศไทย แต่ไร้สิทธิทางสุขภาพทุกกลุ่ม ขณะที่ชนกลุ่มน้อยที่รอลงรายการสัญชาติไทย และยังไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพ ก็จะค่อยๆ ทยอยคืนสิทธิไปจนครบ โดยโครงการหลังนี้จะเริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่องในปี 2556 นี้
การบังคับให้แรงงานข้ามชาติทุกคนต้องซื้อประกันสุขภาพ นับว่าเป็นรายได้ที่มาช่วยลดภาระของสถานพยาบาลได้ชัดเจน ดังการศึกษาเมื่อปี 2548 และ 2549 พบว่าเงินที่ได้จากการประกันสุขภาพของแรงงานข้ามชาตินั้นสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการให้บริการ แม้จะคำนวณรายได้จากจำนวนบัตรประกันสุขภาพเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงานที่ได้รับใบอนุญาตทำงานในปีนั้นๆ ก็ตาม
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาเรื่องผลกระทบของแรงงานข้ามชาติต่อระบบบริการสุขภาพ การให้แรงงานข้ามชาติทุกคนและผู้มีปัญหาสถานะบุคคลทุกประเภทสามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพ จะทำให้รายได้รวมของกองทุนนี้ใหญ่มากพอ เชื่อว่าจะลดปัญหาค่าใช้จ่ายติดลบของโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งยังมีเม็ดเงินเหลือพอจ้างบุคลากรเพิ่มเติมตามจำนวนผู้มาใช้บริการจริงได้ด้วย
ที่มา: รายงานสุขภาพคนไทย 2556
หมายเหตุ : รายงานสุขภาพคนไทย 2556 จัดทำโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (วปส.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)
"รายงาน “สุขภาพคนไทย” ได้ก้าวสู่หนึ่งทศวรรษแล้ว ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รายงานสุขภาพคนไทยได้ทำหน้าที่บันทึกเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในแต่ละปี นำเสนอข้อมูลที่สำคัญ และหยิบยกเรื่องเด่นมานำเสนอประจำแต่ละฉบับ เมื่อมองย้อนกลับไปจะเห็นว่าสถานการณ์บางอย่างมีพัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น บางสถานการณ์ก็ยังคงวนเวียนหาทางออกไม่ได้ หรือย้อนกลับมาเป็นปัญหาใหม่ ทำให้เห็นว่าบางปัญหามีความสลับซับซ้อน และต้องการการปรับเปลี่ยนแนวคิดและโครงสร้างเพื่อคลี่คลายปัญหา และต้องการความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย"
- 1312 views