เครือข่ายฯ ร้องค้านสธ.คงการใช่แร่ใยหินไครโซไทล์ รองปลัดสธ.แจงไร้อำนาจฟันยกเลิกหรือไม่ ระบุแร่ใยหินไครโซไทล์ก่อให้เกิดมะเร็งน้อยมาก
เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กลุ่มเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) ประมาณ 50 คน ได้รวมตัวคัดค้านข้อเสนอของสธ.ที่ยังคงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ โดยกลุ่มเครือข่ายเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.คัดค้านมติของสธ. ที่จะยังคงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในประเทศ 2.ขอให้นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข แถลงต่อสาธารณชนว่าจะไม่เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้คงการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ เนื่องจากสธ.ไม่มีความชอบธรรมเพราะนพ.ประดิษฐ อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีรักษาการ 3.ให้เปิดเผลผลการประชุมของคณะทำงานศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบสุขภาพจากแร่ใยหิน เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูล ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ทางเครือข่ายจะรณรงค์ขับไล่ นพ.ประดิษฐ และ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดสธ. ทั้งนี้ นพ.ชาญวิทย์ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาผลกระทบเรื่องแร่ใยหิน ได้ออกมารับหนังสือ
นพ.ชาญวิทย์ กล่าวว่า สธ.ไม่ได้มีบทบาทในการพิจารณาที่จะสั่งยกเลิกหรือไม่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน มีหน้าที่เพียงพอให้ข้อมูลว่าแร่ใยหินก่อผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างไร และมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งการประชุมผู้บริหาร สธ.ไม่ได้มีมติให้คงการใช้แร่ใยหิน เป็นเพียงให้มีการศึกษาผลกระทบการใช้ ซึ่งได้ซักถามในที่ประชุมด้วยว่า หากจะยกเลิกต้องใช้กฎเกณฑ์อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะทำงานฯ ยังได้กำหนดกรอบการใช้แร่ใยหินว่า ถ้าจะใช้ต้องเป็นระดับไม่เกิน 0.1 ไฟเบอร์ต่อซีซีต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่ก่อมะเร็ง เท่ากับคนที่ไม่ได้รับสัมผัส เพราะฉะนั้นจึงมีความเสี่ยงเท่ากัน
รองปลัดสธ. กล่าวต่อว่า คณะทำงานฯ ได้ศึกษาข้อมูลพบว่าแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์จะย่อยสลายไปภายใน 3 เดือน ต่างจากแร่ใยหินที่ไทยประกาศยกเลิกไป 4 ตัว ซึ่งสะสมมานานเป็น 20 ปี จากการศึกษาพบว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ก่อให้เกิดมะเร็งน้อยมาก เพราะมีโอกาสเกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอดเพียง 1 ต่อ 500, มะเร็งปอดเพียง 1 ต่อ 50 แต่ถ้าใช้ความรู้สึกมาตัดสินว่าควรแบนนั้น ถามว่าต้องให้แบนทุกอย่างทั้งเหล้า บุหรี่ หมูปิ้ง และเพศสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ เพราะก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งเช่นกัน
"ทั้งนี้ ไทยนำเข้ามากว่า 70 ปี และการสำรวจอาชีวอนามัยคนงานกว่า 2,300 คน ในโรงงานผลิตที่มีแร่ใยหินพบว่าสุขภาพเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย และพบเป็นมะเร็ง 5 ราย แต่มีปัจจัยอื่นด้วย จึงถือว่าไทยไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ก่อให้เกิดมะเร็ง และจะไม่นำผลศึกษาเข้าสู่ครม. เพราะเป็นช่วงยุบสภาฯ รองปลัดสธ.กล่าว
--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 26 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 2 views