ใคร..ไม่เคยรับประทานอาหารที่บรรจุในกล่องโฟม ยกมือขึ้น? ดิฉัน ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ ที่คุณจะปลอดภัยจากการได้รับสารสไตรีนโมโนเมอร์หรือสไตรีนออกไซด์ (ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง) จากกล่องโฟม
อาหารที่มีความเป็นกรด เค็ม หวาน เผ็ด มัน จะทำให้ปริมาณการเคลื่อนย้ายของสารโพลิสไตรีนจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหารมากกว่าอาหารที่ไม่มีความเป็นกรด เค็ม หวาน เผ็ด มัน และอาหารที่มีอุณหภูมิร้อนมีแนวโน้มที่จะทำให้โพลิสไตรีนเคลื่อนย้ายจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหารมากกว่าที่อุณหภูมิห้อง
การศึกษา เรื่อง ความเสี่ยงจากการบริโภคอาหารบรรจุกล่องโฟมโพลิสไตรีน (เป็นกล่องโฟมที่ใช้บรรจุอาหารซึ่งพบทั่วไปในบ้านเรา) โดยชุมาพร รถสีดา และ กรรณิการ์ ฉัตรสันติประภา (เผยแพร่ในวารสารวิจัยมข. 10(2): เม.ย.-มิ.ย. 2553) ซึ่งทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ โดยเปรียบการนำเครื่องปรุงอาหารชนิดต่างๆ ได้แก่ น้ำมันสัตว์ น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำพริกน้ำมะนาว น้ำตาลและน้ำเกลือ มาบรรจุในกล่องโฟม เปรียบเทียบการเคลื่อนย้ายของสารโพลิสไตรีนจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหารกับการบรรจุน้ำกลั่นในกล่องโฟม
ผลการศึกษา พบว่า น้ำมันสัตว์ น้ำมันพืช น้ำปลา น้ำพริก น้ำมะนาวน้ำตาลและน้ำเกลือ ที่บรรจุในกล่องโฟม มีการเคลื่อนย้ายของสารโพลิสไตรีนจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหารมากกว่าน้ำกลั่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเนื่องจากในเครื่องปรุงอาหารที่ใช้ทดลองนี้ มีส่วนประกอบของสารไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นสารกลุ่มเดียวกับสารโพลิสไตรีนที่เป็นองค์ประกอบของกล่องโฟม เครื่องปรุงอาหารเหล่านี้จึงสามารถละลายสารโพลิสไตรีนจากกล่องโฟมออกมาได้มากกว่าน้ำกลั่น และหากระยะเวลาที่เครื่องปรุงอาหารสัมผัสกล่องโฟมนานขึ้น จะทำให้สารโพลิสไตรีนจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหารได้มากขึ้น
เมื่อพิจารณาผลการทดลองนำเครื่องปรุงอาหารและอาหารชนิดต่างๆ ที่มีอุณหภูมิต่างๆ พบว่า อาหารร้อนมีแนวโน้มที่จะทำให้สารโพลิสไตรีนจากกล่องโฟมเข้าสู่อาหารได้มากกว่า อาหารที่มีอุณหภูมิห้อง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจากของร้อนมีพลังงานในการเคลื่อนที่มากกว่าของเย็น
นอกจากนี้ สารโพลิสไตรีนจากกล่องโฟม เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นหรือสไตรีนออกไซด์ได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าผู้อ่านบางท่านอาจกล่าวว่า ฉันไม่ได้รับประทานเครื่องปรุงครบทั้ง8 ชนิดตามที่ได้ทดลองในการศึกษานี้ บางครั้งเราอาจจะใช้กล่องโฟมที่มีปริมาณสารโพลิสไตรีนน้อยกว่าที่ได้ทดลองในการศึกษานี้ และบางครั้งเราใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าที่ได้ทดลองในการศึกษานี้ ดังนั้น"ฉันน่าจะปลอดภัยจากสารโพลิสไตรีน" ต้องบอกว่าเป็นข้อสรุปที่มอง "โลกสวย"เกินไปค่ะ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ขณะนี้สาเหตุการเสียชีวิต อันดับหนึ่งของคนไทย คือมะเร็ง เนื่องจากเรามีวิถีชีวิตที่รุมล้อมด้วยสารก่อมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นความเครียดอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษและใช้สารเคมีอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น เราจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่บรรจุในกล่องโฟม หรือ เราเลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารกันดีกว่า จะทำให้สุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมดี
ผู้เขียน : รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 24 ธันวาคม 2556
- 23 views