"มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ชี้โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกสิทธิ์ทำผู้ป่วยบัตรทองเสียสิทธิ์ตาม ม.7 พ.ร.บ.สุขภาพฯ จี้ สปสช.แก้นิยามฉุกเฉิน ด้าน "หมอวินัย" ระบุยังใช้ได้เหมือนเดิม
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ภายหลังตั้งกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีโดยไม่ถามสิทธิ์นั้น ส่งผลกระทบให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่าประชาชนมีสิทธิ์เข้ารับการรักษาฟรีเมื่อมีการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีเหตุอันควร ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถใช้ได้แล้ว ต้องเสียเงินหมด เพราะคำว่าฉุกเฉินจะถูกตีความตามนิยามของสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ซึ่งการตีความค่อนข้างแคบ ดังนั้นส่วนตัวคิดว่าต้องปรับปรุงเรื่องนี้ที่เป็นปัญหามาก
ดังนั้นเบื้องต้นวิธีการแก้ปัญหาคือให้เข้าโรงพยาบาลของรัฐเอาไว้ก่อน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องออกประกาศใหม่ในเรื่องของเหตุอันควรสำหรับคนไข้บัตรทอง สิทธิประโยชน์อื่นๆ ก็ต้องไปคิดต่อว่าจะปรับอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องปรับนิยามคำว่าฉุกเฉินที่มีมิติของผู้ป่วยบ้าง ไม่ใช่ฉุกเฉินในทางการแพทย์อย่างเดียว ตอนนี้จริงๆ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เตรียมนำความเห็นเรื่องนี้เสนอให้กับ สปสช. และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
"พี่เห็นด้วยที่ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่กลายเป็นว่าเป็นปัญหามาก และเป็นช่องว่างทำให้คนไข้ถูกเก็บตังค์ มีอยู่รายหนึ่งถูกเก็บตังค์ตั้ง 1.7 ล้าน" นางสาวสารีกล่าวและว่า ประกาศฉุกเฉินเลยทำให้สิทธิของผู้บริโภคเสียไป และไม่ใช่เฉพาะคนไข้บัตรทอง แต่รวมถึงข้าราชการ ประกันสังคม ต้องจ่ายเงิน เนื่องจากคิดว่าสามารถไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น แต่พอไปถึงบอกว่าไม่ฉุกเฉิน เพราะว่าการตีความคำว่าฉุกเฉินแข็งตัวมากไปตาม สพฉ. ซึ่งต้องแบบใกล้ตาย ความดันตกสุดขีด ช็อก ขณะที่เราท้องเสียอย่างหนักกำลังจะตาย ไปเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ แต่ว่าไม่ฉุกเฉินในสายตาของโรงพยาบาล หรือไม่ฉุกเฉินในนิยามของการแพทย์ฉุกเฉิน
ด้าน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ยืนยันว่ามาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังสามารถใช้ได้เหมือนเดิม เพียงแต่ในการใช้สิทธิ์ดังกล่าวยังคงมีข้อแม้บ้าง ซึ่งต้องดูเป็นรายกรณีๆ ไป ดังนั้นหากประชาชนมีปัญหาเรื่องการใช้สิทธิ์ฉุกเฉินจริง จึงอยากให้โทร.เข้ามาปรึกษา หรือร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1330 จะดีกว่า เพราะจะได้ให้คำปรึกษาได้ตรงที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 23 ธันวาคม 2556
- 14 views