หลังจากรัฐบาลตัดสินใจยุบสภา เชื่อว่าหลายกระทรวงอาจเกิดปรากฏการณ์สุญญากาศขึ้น โดยเฉพาะนโยบายที่เชื่อมโยงกับการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นอีกกระทรวงที่ประสบปัญหานี้
ชัดเจนจากประเด็นที่เป็นปัญหามาตลอด คือการปรับเปลี่ยนประกาศ สธ.กรณีค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ซึ่งมีการปรับลดอัตราค่าตอบแทนในบางกลุ่มวิชาชีพ และไปเฉลี่ยให้วิชาชีพอื่นๆ ขณะเดียวกัน ก็ไปเพิ่มค่าตอบแทนในกรณีผลการปฏิบัติงาน ที่เข้าใจว่าทำงานมากก็จะได้ค่าตอบแทนมาก จนกลายเป็นปัญหาการคัดค้านของชมรมแพทย์ชนบทมาโดยตลอด กระทั่งล่าสุดฝ่าวิกฤตข้อคัดค้านจนได้ข้อสรุปออกเป็นร่างประกาศ สธ. 2 ฉบับใหม่ คือ 1.ร่างประกาศค่าตอบแทนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ทั้งกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับ 8 และ 2.ร่างประกาศกรณีพิจารณาตามผลปฏิบัติงานพ่วงคุณภาพงาน หรือพีฟอร์พี (Pay for Performance) ฉบับ 9 ที่เหลือเพียงเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบ พร้อมประกาศใช้ทันที
รวมไปถึงนโยบายบรรจุตำแหน่งข้าราชการสายวิชาชีพ สธ.กว่า 24 สายงาน ที่ถูกบุคลากร สธ. โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาลเรียกร้องมาตลอด และ ครม.ก็มีมติให้จัดสรรตำแหน่งเป็นระยะเวลา 3 ปี (ปี 2556-2558) จำนวน 22,500 อัตรา เฉลี่ยปีละ 7,500 อัตรา ดำเนินการไปแล้วปี 2556 ขณะที่ปี 2557 กำลังดำเนินการ แต่ทั้งหมดทั้งปวงต้องผ่านการพิจารณาจาก ครม.เป็นรายปี รวมไปถึงนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ซึ่งดำเนินการไปแล้วทั้งในเรื่องการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทุกแห่ง หรือการบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและผู้ป่วยเอชไอวีให้ได้มาตรฐานเดียว และล่าสุดอยู่ระหว่างผลักดันการให้สิทธิบริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งมาตรฐานเดียว ก็ส่อแววแห้ว กลายเป็นว่าโครงการต่างๆ ที่รอการพิจารณาจาก ครม. คงไม่สามารถเดินหน้าได้ง่ายนัก และมีแนวโน้มว่าจะต้องรอการพิจารณาจากรัฐบาลชุดใหม่
สอดรับกับคำสัมภาษณ์ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการ สธ. ที่แจงว่า หลังจากที่มีการยุบสภา รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการซึ่งมีข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่ชัดเจนว่าในส่วนของนโยบายหรือโครงการที่จะมีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดใหม่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะดำเนินการ ทั้งนโยบายการบูรณาการกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน ส่วนการบรรจุบุคลากร สธ.เป็นข้าราชการประจำ ที่ ครม.ได้มีการอนุมัติในหลักการจัดสรรตำแหน่ง จำนวน 22,500 อัตรา ใน 3 ปีนั้น อาจต้องมีการสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานกฤษฎีกาให้ชัดเจนว่า สามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ ครม.เคยอนุมัติกรอบอัตรากำลังไปแล้ว แต่จะต้องนำเข้า ครม.เพื่อทราบผลการดำเนินการเป็นรายปี ส่วนเรื่องระเบียบ ค่าตอบแทนฉบับใหม่ก็คงต้องรอการพิจารณาจากรัฐบาลใหม่เช่นกัน
ด้านนพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท มองว่า ไม่ว่านโยบายใดของ นพ.ประดิษฐ และปลัด สธ. ยุคนี้ ล้วนไม่เห็นด้วย และหากมีการเปลี่ยนแปลงจริงในรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งจะเป็นใครก็ตาม สิ่งสำคัญต้องมีการปฏิรูปใหม่ ไม่เดินมาในรูปแบบที่ผิด อย่างการปรับนโยบายค่าตอบแทน ซึ่งเดิมทีจุดประสงค์ของการจ่ายค่าตอบแทนให้บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากต้องการให้อยู่ในระบบ ไม่ถูกดึงออกนอกระบบ ไปทำงานกับภาคเอกชน จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ชมรมไม่สนใจในเรื่องปรับนโยบายค่าตอบแทนแล้ว แต่มองในภาพรวมที่รัฐมนตรีว่าการ สธ.ผู้นี้ดำเนินการมาผิดทาง ดังนั้น...สิ่งที่อยากให้รัฐบาลใหม่ ดำเนินการปฏิรูปในส่วนของ สธ. เริ่มจากทิศทางเมดิคัล ฮับ หรือการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ที่ผ่านมาในประเทศไทยยังดูแลผู้ป่วยในประเทศไม่เพียงพอ การจะไปมุ่งดูแลผู้ป่วยต่างชาติ โดยไปสนับสนุนหรือร่วมมือกับภาคเอกชนสมควรหรือไม่ สิ่งสำคัญต้องคำนึงผู้ป่วยคนไทยก่อนเป็นสำคัญ
"หากเราไปส่งเสริมเมดิคัล ฮับมากๆ ก็เหมือนสนับสนุนให้ภาคเอกชนมาดึงคนในระบบของเรา ทั้งๆ ที่ปัจจุบันแพทย์ต่อประชากรผู้ป่วยไทยแทบไม่พอ และยิ่งในระบบไม่มีกลไกดูแลบุคลากรให้อยู่ในระบบอย่างแท้จริง ยิ่งส่งผลเสียมาก เหมือนกรณีการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยด้วย ยิ่งสมัย นพ.ประดิษฐ มาคิดวิธีจ่ายค่าตอบแทนตามพีฟอร์พี ซึ่งบริบทแต่ละที่แตกต่างกันก็เป็นปัญหาอีก" นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว พร้อมระบุถึงมีข้อเสนอการปฏิรูป สธ.ครั้งใหม่ว่า ควรยกระดับโรงพยาบาลแต่ละแห่งเป็นองค์การมหาชน เพราะมองว่าในอนาคตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพียงแต่ระหว่างนี้อาจต้องใช้เวลา แต่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการ เหมือนอย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร ก็ประสบความสำเร็จดูแลระบบบริการในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี เนื่องจากจะเน้นทำงานกับคนในพื้นที่ เหมือนโรงพยาบาลเป็นของประชาชน ทำให้มีการพัฒนา เพราะมีคนตรวจสอบในระดับพื้นที่ก็คือ ประชาชนนั่นเอง
แต่ทางฝั่งของ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ แพทย์ประจำโรงพยาบาลสุรินทร์ ในฐานะประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กลับมองว่า นโยบายไหนดีก็ควรขับเคลื่อน อย่างการปรับระเบียบค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ถือเป็นการปรับเปลี่ยนที่ลดช่องว่างระหว่างวิชาชีพ ซึ่งควรดำเนินการ รวมไปถึงกรณี ครม.อนุมัติในหลักการให้มีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการของ สธ.
นายวัฒนะชัย นามตะ ประธานชมรมสหวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บอกว่า ได้มีการหารือกับทางกลุ่มโดยได้ข้อสรุปว่า จะรอการพิจารณาของ ครม.รักษาการภายในเดือนธันวาคมนี้ว่า จะสามารถอนุมัติการบรรจุตำแหน่งข้าราชการสัดส่วน 7,500 อัตรา ของปี 2557 ได้หรือไม่ หากไม่ได้คงต้องรอรัฐบาลใหม่ ซึ่งก็ต้องยอม เพราะไม่มีทางเลือก แต่ระหว่างการรอรัฐบาลใหม่ โดยปกติน่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ประมาณเดือนเมษายน 2557 ในระหว่างรอนั้นจะขอเข้าพบผู้บริหาร สธ.ในการหารือร่วมกันถึงเกณฑ์การแบ่งสัดส่วนของบุคลากรสายวิชาชีพต่างๆ ว่าจะมีสัดส่วนเท่าใดจึงจะเป็นธรรมในการบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะที่ผ่านมาบางกลุ่มก็มีสัดส่วนสูงกว่า ตรงนี้ต้อง หารือให้ชัดเจน
นโยบายที่เป็นประเด็นเรียกร้อง รวมทั้งถูกคัดค้านมาตลอดก็ยังเป็นปัญหาไม่จบสิ้น แม้จะฟันฝ่าอุปสรรค วิกฤตต่างๆ มามาก แต่สุดท้ายเข้าข่าย บุญมี...กรรมบัง
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 14 ธันวาคม 2556
- 7 views