Hfocus -นับตั้งแต่ “นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ดำรงตำแหน่งได้สร้างปรากฎการณ์การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขแนวใหม่หลายอย่าง แต่ที่เป็นปัญหาและถูกคัดค้านจนนำไปสู่การชุมนุม โดยชมรมแพทย์ชนบท และยกระดับขับเคลื่อนร่วมกับมวลมหาประชาชน คงหนีไม่พ้น ประเด็นการปรับเปลี่ยนนโยบายค่าตอบแทนของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่ปรับลดค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของบางกลุ่มวิชาชีพ และปรับเกลี่ยเพิ่มเติมให้วิชาชีพอื่นๆ แต่ไปเพิ่มค่าตอบแทนใหม่ที่เรียกว่า การจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี(Pay for Performance)
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นปัญหาในแวดวงสาธารณสุขที่ไม่จบสิ้น แม้จะมีการระดมความคิดเห็นจากสหวิชาชีพต่างๆ (ยกเว้นชมรมแพทย์ชนบทที่ไม่เข้าร่วม) และได้เป็นร่างประกาศค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ หรือฉบับ 8.1 และร่างประกาศค่าตอบแทนกรณีผลการปฏิบัติงานที่คิดรวมกับผลลัพธ์เชิงคุณภาพ หรือร่างประกาศฉบับ 9 โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม. ) พิจารณาแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องสะดุดเพราะมีการยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา
ไม่เพียงแต่ร่างประกาศค่าตอบแทน 2 ฉบับจะส่อแววเดินหน้าไม่ได้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่ฮอตและเป็นนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ คือ การลดความเหลื่อมล้ำสามกองทุน ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งการรับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่ถามสิทธิ หรือการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายและผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์มาตรฐานเดียวกัน รวมไปถึงฝากท้องทุกที่ฟรีทุกสิทธิ ก็ดูเหมือนจะเป็นนโยบายที่สร้างแรงกระเพื่อมไม่น้อย ล่าสุดยังเตรียมเดินหน้านโยบายการรับบริการมะเร็งมาตรฐานเดียว โดยได้ผ่านการพิจารณาร่างแนวทางต่างๆ แล้ว เหลือเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอเข้าครม.พิจารณา
หลังจากยุบสภาแล้ว ดูเหมือนว่าโครงการต่างๆ ที่ผลักดันโดยรัฐบาลชุดนี้จะหยุดนิ่ง เพราะกฎหมายไม่เอื้อให้รัฐบาลรักษาการดำเนินการอนุมัติได้ ยิ่งเกี่ยวโยงกับงบประมาณผูกพันแล้ว จึงเกิดคำถามว่า กรณีโครงการของกระทรวงสาธารณสุข จะเดินหน้าอย่างไร...
นพ.ประดิษฐ ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ภายหลังจากที่มีการยุบสภา รัฐบาลเป็นรัฐบาลรักษาการซึ่งมีข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆที่ชัดเจนว่าในส่วนของนโยบายหรือโครงการที่จะมีผลผูกพันต่อรัฐบาลชุดใหม่เป็นสิ่งที่ไม่สมควรที่จะดำเนินการ ในส่วนนโยบายการบูรณาการกองทุนประกันสุขภาพ 3 กองทุน ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการจะต้องรอรัฐบาลชุดใหม่มาพิจารณา นอกจากนี้ในเรื่องการพิจารณารับร่างประกาศค่าตอบแทนฉบับใหม่ จะต้องมีการสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)และสำนักงานกฤษฎีกาให้ชัดเจนว่าสามารถดำเนินการต่อได้หรือไม่
ขณะที่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวถึงกรณีร่างประกาศค่าตอบแทนฯ ว่า ขณะนี้คงต้องใช้ประกาศการเยียวยาในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศค่าตอบแทนฉบับใหม่ไปก่อน
ส่วนด้าน “นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ” ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ไม่ว่าเป็นนโยบายใดก็ตามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุขยุคนี้ ล้วนเดินมาในรูปแบบที่ผิด และไม่ควรเดินหน้าต่อไป สิ่งสำคัญควรปฏิรูปนโยบายใหม่ ยกตัวอย่าง การจัดพื้นที่บริการสุขภาพออกเป็น 12 เขตบริการสุขภาพ ซึ่งกระทรวงฯพูดมาตลอดว่าเป็นการกระจายอำนาจ แต่แท้จริงไม่ใช่ เป็นการดึงอำนาจมาที่ส่วนกลางเพราะมีผู้ตรวจราชการ สธ. ดำเนินการ และตรงนี้ต้องปรับเปลี่ยน สิ่งสำคัญต้องเน้นให้ระบบสุขภาพเป็นศูนย์กลาง โดยต้องได้รับความเสมอภาค ซึ่งการจะกำหนดเขตบริการสุขภาพ กำหนดได้แต่ต้องแยกระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งที่ผ่านมามีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในการซื้อบริการ และมีโรงพยาบาลต่างๆเป็นผู้ขาย ตรงนี้ต้องแยกให้ชัด และต้องกระจายอำนาจไปยังพื้นที่จริงๆ
แต่ในมุมมองของแพทย์ประจำโรงพยาบาลจังหวัดขาประจำ อย่าง “พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ” แพทย์ประจำโรงพยาบาลสุรินทร์ และอีกตำแหน่งคือ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กลับมองว่านโยบายไหนที่ดีก็ต้องขับเคลื่อนต่อไป และเชื่อว่ารัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลไหนหากเล็งเห็นก็น่าจะสานต่อ อย่างกรณีร่างประกาศค่าตอบแทนฉบับใหม่ที่ลดช่องว่างระหว่างวิชาชีพ ไม่ใช่การใช้ประกาศรูปแบบเดิมๆ ที่ระบุว่าต้องให้แพทย์ที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ซึ่งคนละส่วน ส่วนนั้นยังให้อยู่ แต่ในส่วนที่อยู่ในพื้นที่ที่เดิมเคยทุรกันดาร แต่ปัจจุบันมีความเจริญแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยน แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยดำเนินการ เมื่อมีการปรับใหม่และเสมอภาคขึ้นก็ถือว่าเป็นเรื่องดีใช่หรือไม่ จึงจำเป็นต้องเดินหน้าใช้ประกาศค่าตอบแทนกรณีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับใหม่ดีกว่า เพราะหากยังใช้รูปแบบเดิมก็จะสร้างความแตกแยกระหว่างวิชาชีพไม่จบสิ้น
สุดท้ายจะเดินหน้าหรือสะดุด คงต้องรอรัฐบาลใหม่ที่มาอย่างถูกต้องชอบธรรมเพื่อพิจารณาเรื่องเหล่านี้อีกครั้ง...
- 5 views