มติชน - อ่านข่าวเรื่องเด็กจีนอายุเพียงแค่ 8 ปี แต่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดแล้วก็เศร้าใจ เพราะด้วยวัยขนาดนี้ ไม่น่าจะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งเลย แต่ถ้าหากเราคิดให้ดีๆ ที่เป็นเช่นนั้นก็คงมีคำตอบอยู่แล้ว เราคงรู้กันดีว่ามลพิษทางอากาศในจีนในขณะนี้ เสี่ยงต่อสุขภาพมากขนาดไหน
หันมามองเมืองไทยก็เสี่ยงไม่ใช่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะมีรายงานว่า คนยุคใหม่เสี่ยงทั้งมะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก
โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ มีแนวโน้มว่า จะเสี่ยงมากกว่าปกติ
เร็วๆ นี้มีผลการศึกษาของจีอี เฮลท์แคร์ ที่จัดให้มีการศึกษาทั่วโลกเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ล่าสุดพบว่า การเพิ่มขึ้นของโรคมะเร็งเต้านมและอัตราการเสียชีวิตสื่อให้เห็นถึงภัยคุกคามที่สำคัญและเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา
เบนท์ จอห์นสัน ศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข (Health Economics) แห่งสถาบันเศรษฐศาสตร์ สตอกโฮล์ม หนึ่งในผู้เขียนรายงานการศึกษานี้ ได้อธิบายไว้ว่า โรคมะเร็งเต้านมกำลังเพิ่มขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา สาเหตุหลักมาจากการที่คนเรามีอายุยืนยาวขึ้นและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น ผู้หญิงมีบุตรน้อยลง รวมถึงการแทรกแซงการทำงานของฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนบำบัดในวัยก่อนหมดประจำเดือน
สำหรับอัตราการเสียชีวิตในภูมิภาคนี้ประกอบด้วยขั้นตอนหลังจากการวินิจฉัยโรคแล้ว รวมทั้งข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษา ซึ่งเป็นเหมือน "ระเบิดเวลา" ที่องค์กรสาธารณสุขต่างๆ และผู้กำหนดนโยบายในประเทศเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อหยุดระเบิดเวลานี้ หรือคลี่คลายไปให้ได้ โดยเฉพาะการป้องกัน การตรวจพบแต่เนิ่นๆ จะทำให้เกิดผลดีต่อคนไข้อย่างมาก
อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่า ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้น ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (มะเร็งปากมดลูกคงไม่ต้องพูดถึง) จากการสำรวจล่าสุดในเม็กซิโกซิตี้ ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงหลายคนรู้สึกไม่สะดวกใจหรือกังวลใจที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรอง (แมมโมแกรม) จนในที่สุดก็มาหาหมอในช่วงที่ร่างกายและจิตใจเกินจะเยียวยาแล้ว
ก็ได้แต่หวังว่า คุณผู้หญิงทั้งหลายจะให้ความสำคัญในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมกันมากขึ้น ก่อนที่จะสายจนเกินแก้
มาที่มะเร็งลำไส้กันต่อ จากสถิติที่รายงานของอุบัติการณ์โรคนี้ จะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่มักเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ที่เราไม่สามารถควบคุมได้นั้น คงทราบกันดีว่ามาจากกรรมพันธุ์ อายุ และเพศ ส่วนที่ควบคุมได้ก็คือเรื่องของการทานอาหารจำพวกไขมันสูง อาหารขยะ รวมทั้งต้องเลี่ยงความเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ รวมทั้งความเครียดอีกด้วย
มะเร็งลำไส้ ในระยะแรกๆ สังเกตยังไงก็คงไม่เจอ นอกจากมีการตรวจด้วยการส่องกล้อง เหตุนี้ เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปคุณหมอจึงแนะนำให้มีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติภายใน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างมาก และหากพบก็มักจะพบความผิดปกติในระยะแรกๆ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้
สำหรับวิธีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เชื่อถือได้และวงการแพทย์แนะนำ คือ การตรวจหาเลือดในอุจจาระ (fecal occult blood testing) และการ ส่องกล้องทางทวารหนักและลำไส้ใหญ่ (sigmoidoscopy หรือ colonoscopy) อายุที่ควรตรวจคัดกรอง คือ เริ่มจากอายุ 50 ปี จนถึงอายุ 75 ปี สำหรับผู้ที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปจะไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากนี้ ผู้ที่บิดา-มารดาหรือพี่น้องท้องเดียวกันมีประวัติโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะขณะที่มีอายุน้อย ผู้ที่มีประวัติมีติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (Lynch syndrome หรือ familial adenomatous polyposis) หรือลำไส้อักเสบ อาจต้องเริ่มตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 50 ปี
เป็นเรื่องราว 2 มะเร็ง ที่หยิบมาให้อ่านกันในฉบับนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ที่ช่วยกระตุ้นเตือนทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายให้ใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น และหากจะให้ดี วันพ่อที่จะถึงนี้ ลูกๆ จูงคุณพ่อ (คุณแม่) ไปตรวจสุขภาพ คัดกรอง 2 มะเร็งนี้ก็น่าจะดีไม่น้อย
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 2 ธันวาคม 2556
- มะเร็ง
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้
- จีอี เฮลท์แคร์
- เบนท์ จอห์นสัน
- Health Economics
- สถาบันเศรษฐศาสตร์สตอกโฮล์ม
- การตรวจหาเลือดในอุจจาระ
- fecal occult blood testing
- การ ส่องกล้องทางทวารหนักและลำไส้ใหญ่
- sigmoidoscopy
- colonoscopy
- ติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์
- Lynch syndrome
- familial adenomatous polyposis
- 73 views