ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังโรคมือเท้าปาก หลังพบผู้ป่วยประปรายสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้กว่า 36,000 ราย หวั่นช่วงอากาศเย็นลง น้ำท่วม โรงเรียนเปิดเทอม โรคอาจระบาดได้ ขอความร่วมมือศูนย์เด็กเล็ก สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาลทุกแห่ง เข้มงวดความสะอาดสถานที่ เครื่องใช้ ของเล่นเด็กทุกวันตรวจอาการเด็กทุกเช้า หากสงสัยอาจป่วยเป็นโรคนี้ ให้แยกเด็กและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที
นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์โรคมือเท้าปาก (Hand Foot Mouth Disease)ว่า ขณะนี้กำลังเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว มีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่ อากาศเย็นและชื้น เหมาะแก่การระบาดของเชื้อโรคชนิดนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มไวรัสที่อยู่ในลำไส้ เรียกว่าเอ็นเทอโรไวรัส จากการประเมินสถานการณ์โรคปี 2556 นี้ พบผู้ป่วยประปรายตั้งแต่ต้นปี มีแนวโน้มมากขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยสะสม 41,346 ราย เสียชีวิต 3 ราย พบมากในภาคเหนือและภาคใต้ ร้อยละ 80 เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี สถานที่ที่พบมากได้แก่ที่ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่าโรคนี้มักเกิดในเด็กที่อยู่รวมกันมากๆ ซึ่งช่วงนี้มีฝนตกและบางแห่งมีน้ำท่วมและโรงเรียนใกล้เปิดเทอมจึงเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างใกล้ชิด และขอความร่วมมือผู้ปกครอง ครูพี่เลี้ยงเล็ก เข้มงวดเฝ้าระวังและป้องกันโรคนี้อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในศูนย์เด็กเล็ก สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียน ให้ดูแลหลักอนามัยให้ถูกต้อง คือ กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ ของเล่นเด็กต่างๆ ให้ครูช่วยตรวจสุขภาพเด็กนักเรียนทุกเช้าเพื่อดูความผิดปกติเบื้องต้น หากพบว่าเด็กมีไข้หรือพบตุ่มใสขึ้นที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า หรือตุ่มในปาก ในกระพุ้งแก้ม ให้แยกเด็กออกจากเด็กปกติ และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อให้เด็กได้รับการดูแลอย่างอย่างถูกต้อง ป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน และควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดได้อย่างทันท่วงที
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคมือเท้าปาก พบได้ทั่วโลก มีหลายชนิด เชื้อโรคชนิดนี้จะอยู่ที่ลำไส้ และขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ อาเจียน หรือน้ำลายของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโรคมือเท้าปากจะมีไข้ 1-2 วัน จากนั้นจะมีตุ่มหรือแผลในปากคล้ายแผลร้อนใน ส่วนใหญ่จะพบที่บริเวณคอหอยหรือใกล้ต่อมทอนซิล ทำให้เด็กเจ็บในปากและคอ ไม่ยอมดูดนม กินอาหารไม่ได้ ส่วนใหญ่เด็กที่ป่วยอาการจะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆและหายได้เองใน 7 วัน มีจำนวนน้อยมากที่มีอาการรุนแรง คือ มีไข้สูง อาจมีอาการชัก แขนขาอ่อนแรง โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกันและไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น ลดไข้ด้วยยา ทายาแก้ปวด รับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม ไอศกรีม หากมีอาการรุนแรง ซึมลง หายใจหอบหอบ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที
ขณะเดียวกัน เมื่อมีเด็กป่วยเป็นโรคมือเท้าปากขอให้แยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม หลอดดูดน้ำ และทำความสะอาดพื้นห้องหรือพื้นที่ที่เด็กสัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ด้วยน้ำผสมผงซักฟอก ที่มีส่วนผสมของคลอรีน เช่น ไฮเตอร์ แล้วล้างซ้ำด้วยน้ำสะอาด หากเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่มีการนำเข้าปากให้ล้างด้วยน้ำและสบู่ และนำไปตากแดด
- 3 views