Flash Mob นักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศกว่า 150 คน ร่วมต้านการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผล เนื่องในวัน Antibiotic Awareness Day วันที่ 18 พฤศจิกายนของทุกปี
เมื่อวานนี้ (23 พ.ย. 56) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (International Federation of Medical Students' Associations - Thailand หรือ IFMSA-Thailand) ระดมนักศึกษาแพทย์จาก 6 สถาบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสถาบันพระบรมราชชนก ก่อม็อบกลางเมือง ณ Digital Gateway สยามสแควร์ คัดค้านการใช้ยาปฏิชีวนะไม่สมเหตุผล และยกขบวนเดินรณรงค์แจกแผ่นพับให้ความรู้การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล เนื่องในวัน Antibiotic Awareness Day ซึ่งตรงกับวันที่ 18 พฤศจิกายนของทุกปี โดยประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (European Union : EU) ทำกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องกันมาทุกปี สำหรับประเทศไทยจัดขึ้นครั้งแรกในปีนี้ ระหว่างวันที่ 18 – 24 พ.ย. 56
นายฒัชชณพงศ์ จงเจริญยานนท์ นักศึกษาแพทย์ ปี 3 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานการจัดงาน Antibiotics, Trick or Treat เนื่องในวัน Antibiotic Awareness Day กล่าวเชิญชวนนักศึกษาและผู้ที่สนใจร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ สามารถร่วมส่งคำขวัญ คลิปวิดีโอความยาวไม่เกิน 5 นาที และโปสเตอร์ เข้าร่วมประกวดภายใต้หัวข้อ Antibiotics Smart Use ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไรให้ Smart เพื่อร่วมรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ลดอัตราการเกิดเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นวิกฤตปัญหาใหญ่ในระบบสาธารณสุขทั่วโลกในขณะนี้ โดยจะเปิดรับผลงานจนถึงต้นปี 2557 สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook : antibioticstrickortreat
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรม Antibiotics, Trick or Treat เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้ประกาศให้ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักถึงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องสมเหตุผลเพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา สำหรับพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะในสังคมไทยนั้นน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และต้องเร่งป้องกันแก้ไขโดยด่วน เนื่องจากมีความเชื่อและความเข้าใจผิดหลายประการ
ประการแรกคือ เรียกชื่อผิด การเรียกยาปฏิชีวนะ ว่ายาแก้อักเสบ ทำให้เข้าใจผิดว่ายาปฏิชีวนะใช้ได้กับอาการอักเสบทุกชนิดและทำให้ใช้ยาผิดประเภท ซึ่งความจริงแล้วยาปฏิชีวนะมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ไม่สามารถใช้รักษาอาการอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือสาเหตุอื่นๆ ได้ ประการที่สองคือ ผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคหวัดเจ็บคอส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งสามารถหายเองได้ด้วยภูมิต้านทานของร่างกาย การไปหาซื้อยาปฏิชีวนะรับประทานเองจึงไม่ช่วยรักษาโรคแต่ยังเพิ่มอันตรายจากการใช้ยาโดยไม่จำเป็น ประการที่สามคือ ประชาชนมีความเชื่อตามๆ กันว่ารับประทานยาปฏิชีวนะกันไว้ก่อนดักไว้ก่อนจะช่วยป้องกันโรคได้ ซึ่งความเชื่อและความเข้าใจผิดดังกล่าวเป็นเหตุให้คนไทยใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น จนเกิดเป็นวิกฤตเชื้อดื้อยาในปัจจุบัน
- 101 views