กรุงเทพธุรกิจ - การรณรงค์ และต่อต้านการสูบบุหรี่ เป็นกิจกรรมที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และภาคีสมาชิก ยังคงใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ และ ป้องกันไม่ให้เยาชนคนรุ่นใหม่ก้าว เข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่ของสังคม
คนอีกหนึ่งกลุ่มที่ตกเป็น "เหยื่อ" ของควันบุหรี่ ทั้งๆ ที่ตนเองไม่เคยข้องแวะ และไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ภาคการสาธารณสุขในบ้านเรากำลังเร่งช่วยเหลือ ทั้งการรณรงค์ให้ ผู้สูบบุหรี่เห็นใจบรรดาเหยื่อควันบุหรี่มือสองเหล่านี้ ด้วยการงดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เพราะโรคร้ายที่คุกคามเหยื่อเหล่านี้สร้างความเจ็บป่วยทางร่างกาย ความทรมานจิตใจ จากกรรมที่ตนเองไม่ได้ก่อ
คุณสุเทพ เกรียงเม็งโคตร คือหนึ่งในเหยื่อของควันบุหรี่ มือสอง เรื่องราวของเขาถูกถ่ายทอดผ่านงานโฆษณาของ สสส. ที่เผยแพร่ออกไปทั่วประเทศ ทั้งๆ ที่เขาเป็นคนที่รักการออกกำลังกาย ไม่ดื่มเหล้า และไม่สูบบุหรี่ แต่เนื่องจากความเครียด และการทำงานในฐานะนายกเทศมนตรี ตำบลหนึ่ง ในจังหวัดนครราชสีมา ที่ทำให้ต้องติดต่อ ประสานงาน ประชุมกับคนมากมาย ซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้สูบบุหรี่ เขาจึงกลายเป็น เหยื่อบุหรี่มือสองไปโดยไม่รู้ตัว
"ประมาณปี 2539 ผมเริ่มมีอาหารเจ็บคอบ่อย และ เสียงเริ่มแหบ จึงไปพบคุณหมอ และได้ทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งกล่องเสียงเบื้องต้น จากการที่เราขลุกตัวอยู่ในวง ผู้สูบบุหรี่มาโดยตลอด" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้คุณสุเทพผ่าตัดเพื่อนำกล่องเสียงที่มีปัญหาออก จากนั้นต้องเริ่มฝึกพูด ผ่านหลอดอาหาร ซึ่งกระบวนการรักษา และบำบัดทุกขั้นตอน เต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่เขาก็ผ่านมาได้จากกำลังใจ ของคนในครอบครัว และจากแพทย์ที่ดูแลอย่างใกล้ชิด
หลังจากวันนั้น เขาเข้าร่วมเป็นวิทยากรพิเศษให้กับ "ชมรมผู้ไร้กล่องเสียง" โรงพยาบาลราชวิถี และเป็นผู้ช่วยสอนฝึกพูด เพื่อให้ผู้ป่วยที่ตัดกล่องเสียงออกไปสามารถกลับ มาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เพราะเขารู้ และเข้าใจดีว่า การสื่อสารไม่ได้ ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันยากลำบาก
คุณสุเทพ เป็นเพียงหนึ่งในผู้ป่วยไม่กี่รายที่กลับมา พลิกฟื้นชีวิตให้กลับมาสดใสได้อีกครั้ง ในขณะที่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เป็นเหยื่อของบุหรี่มือสอง และไม่ได้รับการรักษาบำบัดอย่างถูกต้อง คุณจรัส นิ่มทิพย์รัตน์ ประธานชมรมผู้ไร้กล่องเสียง โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า การใช้รูหายใจหน้าคอแทนจมูกไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยต้องยอมรับสภาพที่จะต้องหายใจด้วยวิธีใหม่และให้เสียงพูดผ่านทางหลอดอาหาร เพราะฉะนั้นการให้ความรู้เรื่องสุขปฏิบัติแก่ผู้ป่วยอย่างถูกวิธีในเรื่องนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น การรวมกลุ่มของอดีตผู้ป่วยมะเร็ง กล่องเสียง ที่ได้รับการผ่าตัดเอากล่องเสียงออกเพราะผล ของโรคอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายขาดความมั่นใจ รู้สึกมีปมด้อย ถึงขั้นที่ไม่อยากพูดคุยกับใครเลย. ฉะนั้นการจัดตั้งชมรม เพื่อเป็นหนึ่งตัวช่วยที่ดีให้ผู้ป่วยมีความหวังที่จะกลับมา ออกเสียงได้เร็ว จำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้กำลังใจทั้งจากตนเอง และครอบครัว สิ่งสำคัญซึ่งเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตใหม่ต่อไป
นี่เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตผู้ป่วย ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ยังมีผู้ป่วยอีกมากที่ยังทุกข์ทรมานกับโรคร้ายนี้ การส่งควันบุหรี่สู่คนรอบตัว แม้จะโดยความไม่ตั้งใจ หรือเป็นพฤติกรรมที่ปฏิบัติจนเคยชิน แต่ก็ เป็นพฤติกรรมเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจสำหรับสังคมใน ยุคนี้ด้วยเช่นกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2556
- 14 views