มติชน - "ในปี 2551 อัตราการเสียชีวิตจากบุหรี่ของประชากรโลกมีจำนวนกว่า 5 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียรวมกันเสียอีก แต่หากเรายังไม่มีมาตรการหรือลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงไป ในปี 2573 โลกของเรา จะมีคนเสียชีวิตจากบุหรี่เพิ่มเป็น 8 ล้านคนต่อปี" ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการประชุมวิชาการ "มหกรรมวิชาการฟ้าใส" ครั้งที่ 1 เรื่อง "The Changing of Cigarettes"ที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้ นพ.อุดมศิลป์ให้ข้อมูลต่อไปว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยมีแนวโน้มลดลงในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดย ในปี 2552 มีอัตราผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 20.7 ในปี 2554 ร้อยละ 21.4 และในปี 2556 ร้อยละ 19.94 ในจำนวนนั้นหากคิดเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 15-24 ปี ในปี 2552 จำนวน 1.67 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.2 ปี 2554 จำนวน 1.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.6 ในปี 2556 จำนวน 1.44 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 15.07
หากดูค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยจากบุหรี่ จะพบว่ามีค่าใช้จ่ายถึง 43.6 พันล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของจีดีพีของประเทศไทย หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศไทย
ด้าน ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า การรณรงค์การควบคุมเรื่องของยาสูบในประเทศไทยถือว่ามีความก้าวหน้าในหลายด้าน ทั้งการห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบในทุกรูปแบบ การเปลี่ยนแปลงภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ ห้ามแสดงบุหรี่ที่จุดขาย รวมไปถึงการใช้มาตรการทางภาษี แต่ก็ยังมีคนไทยถึง 13 ล้านคนที่ยังสูบบุหรี่ ซึ่งจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งอยากจะเลิก สูบบุหรี่แต่เลิกไม่ได้ อีกทั้งอุตสาหกรรมบุหรี่ยังมีการ กระตุ้นการบริโภคโดยการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด ซึ่งก่อให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ตลอดเวลา
มีหลักฐานทางวิชาการที่ยืนยันว่าบุหรี่มีฤทธิ์ในการเสพติดสูง ทำให้การเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องง่าย "คลินิกฟ้าใส" เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาโดยไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝง เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในการเลิกบุหรี่ มีการอบรม ให้ความรู้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลต่างๆ ปัจจุบันมีคลินิกฟ้าใสที่ให้บริการให้คำแนะนำในการเลิกบุหรี่กับประชาชน 274 แห่งทั่วประเทศ
"การเลิกบุหรี่ด้วยตัวเองมีโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จหรือกลับมาสูบซ้ำมีสูง สถิติผู้ที่มาใช้บริการคลินิกฟ้าใสในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนเข้ารับบริการประมาณ 10,000 ราย และจากการติดตามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าไม่มีผู้ที่กลับไปสูบบุหรี่ซ้ำร้อยละ 50" ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา กรรมการเครือข่าย วิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ คลินิกฟ้าใส บอกและว่าผู้เข้ารับการรักษาจะเข้าสู่การปรึกษา หาสาเหตุการติดบุหรี่ ประเมินการรักษาและปรับพฤติกรรม โดยพบว่า 1 ใน 3 ของผู้รักษาต้องใช้ยาเพื่อเลิกบุหรี่ ทำให้เห็นว่าการให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ เปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อการเลิกบุหรี่เป็นอย่างมาก
สอดคล้องกับ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ที่บอกว่าแพทย์ต้องใช้ความพยายามในการพูดคุยกับผู้เข้ารับการรักษา เนื่องจากไม่ใช่ทุกรายที่จะตั้งใจมาด้วยตัวเอง แต่บางส่วนจะมาพบแพทย์เนื่องจากครอบครัว ซึ่งกลุ่มนี้จะมีแนวความคิดที่ว่าไม่อยากจะเลิกสูบบุหรี่ ต้องให้กำลังใจคนไข้ ทำให้เขาเห็นถึงความพยายามของตัวเอง
ต้องพยายามหาข้อดีของผู้เข้ารับการรักษาว่าเขาชื่นชอบการทำกิจกรรมอะไรก็สนับสนุนให้ทำกิจกรรมนั้น เช่น การเล่นกีฬา ออกกำลังกาย เพื่อให้ใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่ชื่นชอบไม่ให้คิดถึงการสูบบุหรี่ รวมทั้งตั้งเป้าหมายกิจกรรมที่ทำร่วมกับครอบครัวไปด้วย เช่น การไปเที่ยวทั้งครอบครัว ก็เป็นการใช้เวลาร่วมกันและเป็นการจำกัดการสูบบุหรี่ไปด้วย เพราะบางสถานที่ก็ไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ อย่างเช่นบนรถโดยสารสาธารณะหรือเครื่องบิน
ที่สำคัญที่สุดคืออย่าเอาความผิดพลาดของคนไข้มาซ้ำเติม แพทย์ควรให้กำลังใจผู้เข้ารับการรักษา เพื่อไม่ให้ถอดใจในการเลิกบุหรี่ เช่น หยุดสูบบุหรี่ไประยะเวลาหนึ่งก็กลับมาสูบใหม่ เราต้องถือว่าเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเลิกบุหรี่ ต้องให้กำลังใจว่าที่ผ่านมาทำได้ ก็สามารรถทำได้ต่อไปจนสำเร็จ เป็นต้น
"ครอบครัว สังคมรอบข้าง มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้ผู้เข้ารับการรักษาเลิกบุหรี่ได้ อีกทั้งการที่ผู้เข้ารับการรักษามาพบกันที่โรงพยาบาลได้พูดคุยกันก็ทำให้มีกำลังใจในการเลิกบุหรี่ ทำให้รู้สึกว่ามีอีกหลายคนที่กำลังทำแบบเดียวกับเรา ไม่ได้พยายามอยู่คนเดียว" พญ.อภิสมัยบอกทิ้งท้าย
กินอาหารอย่างไรในช่วงเลิกบุหรี่
สารนิโคตินในบุหรี่จะทำให้ปุ่มรับรสผิดเพี้ยนไป ระหว่างสูบบุหรี่จึงเกิดอาการเบื่ออาหาร เมื่อเลิกสูบจึงเกิดความอยากอาหารเป็นสาเหตุให้กินอาหารเยอะ
งานวิจัยใน Journal Nicotine & Tobacco Research พบว่า ผู้ที่ดื่มนม กินผลไม้ในช่วงระหว่างการเลิกบุหรี่จะทำให้ความอยากบุหรี่ลดลง แต่หากดื่มแอลกอฮอล์ บริโภคเนื้อสัตว์ จะทำให้เกิดความอยากสูบบุหรี่มากขึ้น โดยเฉพาะเนื้อแดง เช่น น่อง สะโพกไก่ เป็นต้น ยังพบว่าการเติมผักในอาหาร เพื่อให้อาหารมีรสขมเล็กน้อยก็จะส่งผลให้ความอยากบุหรี่ลดลง
นอกจากนี้ สารอาหารสำคัญที่ควรกินในขณะเลิกบุหรี่ เพื่อให้บำรุงร่างกายและลดความอยากบุหรี่ ได้แก่ วิตามินบี มีความชุ่มชื้นกินแล้วสดชื่น ลดความอยากบุหรี่ เช่น ขึ้นฉ่าย กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น
วิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงให้สมบูรณ์ บำรุงรักษาเนื้อเยื่อ
วิตามินซี ที่จากงานวิจัยพบว่าคนที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 25 ขาดวิตามินซี
แมกนีเซียม การงดบุหรี่จะทำให้เกิดความเครียด การทานอาหารที่มีแมกนีเซียมจะช่วยบำรุงเรื่องระบบประสาท เช่น เมล็ดธัญพืชต่างๆ
โอเมก้า 3 เพื่อลดความดันโลหิต การอักเสบ ลดความเสี่ยงในโรคหัวใจ เนื่องจากการสูบบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดหดตัว มีในปลาทะเลชนิดต่างๆ เช่น ปลากะพงขาว ปลาจาระเม็ดดำ และ ปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาเนื้ออ่อน เป็นต้น
ที่มา--มติชน ฉบับวันที่ 18 มี.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--
- 265 views