ไทยรัฐ - กระทรวงสาธารณสุขจับมือกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ลงนามความร่วมมือเฝ้าระวัง ป้องกันและปราบปรามมาตรฐานการให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข กวาดล้างคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน และวิธีการรักษาพยาบาลที่ไม่ถูกต้อง
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่ควบคุมกำกับสถานพยาบาลภาครัฐในสังกัดที่มี 10,695 แห่ง และภาคเอกชนทั่วประเทศ ทั้งประเภทคลินิกและโรงพยาบาลเอกชนที่มีทั้งหมดเกือบ 18,000 แห่ง ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพ ราคายุติธรรม โดยเน้นหนัก 2 เรื่อง คือ การให้บริการตรวจสุขภาพ เพื่อการป้องกันโรคและบริการตรวจรักษาผู้ที่เจ็บป่วยแล้ว สำหรับงานบริการตรวจสุขภาพ โดยทั่วไปจะมีการเจาะเลือดดูหมู่เลือด เอกซเรย์ดูความผิดปกติ ปอดจะไม่มีการรักษา แต่ที่ผ่านมาพบว่า มีบริษัทหรือสถานพยาบาลเอกชนที่ไม่ได้รับอนุญาต ดำเนินการตรวจสุขภาพนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษา พนักงานในสถานประกอบการ โดยที่ผู้ให้บริการไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์
ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข จึงได้กำหนดลักษณะของสถานพยาบาลที่สามารถให้บริการตรวจสุขภาพดังนี้ 1. ต้องเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต และต้องเป็นประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเท่านั้น บุคลากรให้บริการ ทั้งแพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ นักรังสีเทคนิค จะต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในด้านนั้นๆ 2. รถเอกซเรย์เคลื่อนที่ต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และกระทรวงสาธารณสุข หากสถานพยาบาลไม่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาก็ไม่ควรว่าจ้าง 3. ให้ผู้บริหารโรงเรียน ทำหนังสือแจ้งผู้ปกครองนักเรียนว่าจะทำการตรวจสุขภาพด้านใดให้แก่นักเรียน และทำแบบฟอร์มให้ผู้ปกครองอนุญาต โดยให้แจ้งผลการตรวจให้ผู้ปกครองทราบ และ 4. ให้ประชาชน ผู้ปกครองช่วยกันตรวจสอบถ้ามีการเอกซเรย์ ต้องมีฟิล์มหรือผลเอกซเรย์ให้ หากมีการเจาะเลือดก็จะต้องมีการแจ้งผลเลือดทุกครั้ง ทั้งนี้หากผลการตรวจผิดปกติ เช่น กรุ๊ปเลือด สายตา หรืออื่นๆ ไม่ตรงกับที่เคยตรวจมาแล้ว ให้สันนิษฐานก่อนว่า อาจได้รับบริการที่ไม่ถูกต้อง โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข้อมูลแนวทางการตรวจสุขภาพเคลื่อนที่สำหรับสถานศึกษา สถานประกอบการผ่านทางเว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารสถานศึกษาสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา สำหรับเรื่องการรักษาผู้ป่วย สถานที่ที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นคลินิก มากกว่าโรงพยาบาลเอกชน ตั้งแต่ตุลาคม 2555-กันยายน 2556 กระทรวงสาธารณสุขได้รับเรื่องร้องเรียนคลินิกเถื่อน 30 แห่ง ดำเนินการเสร็จแล้ว 15 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ในการสร้างความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการในคลินิกทุกประเภท ทั้งรักษาทั่วไปและคลินิกความงาม กระทรวงสาธารณสุขจะตั้งทีมเฉพาะกิจ ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และแพทยสภา เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ควบคุมมาตรฐานของคลินิกและผู้ประกอบวิชาชีพ เป็นการบูรณาการใช้กฎหมายดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดในคราวเดียวกัน ประชาชนเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษ 4 กระทง ดังนี้
1. กรณีคลินิกเถื่อน เป็นการกระทำฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 16 คือ ประกอบกิจการสถานพยาบาล ต้องได้รับอนุญาต และมาตรา 24 การดำเนินการสถานพยาบาลต้องได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษตามมาตรา 57 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. กรณีหมอเถื่อน ฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ในมาตรา 26 ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ต้องระวางโทษตามมาตรา 43 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. กรณีการปลอมแปลงเอกสาร ใบปริญญา และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เป็นอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดำเนินการตามมาตรา 264 ปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือฝ่าฝืนมาตรา 265 หรือมาตรา 266 ต้องรับโทษหนักขึ้น และ 4. กรณีผู้ใช้เอกสารปลอม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 หรือ 268 กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดสายด่วนร้องเรียนคลินิกเถื่อน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หมายเลขโทรศัพท์ 02-193-7999 หรือแจ้งได้ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในท้องที่ และมอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้.
- 408 views