ASTV ผู้จัดการรายวัน - กระทรวงสาธารณสุขในยุคที่ถูกเรียกว่ายุคปฏิรูป มีนโยบายการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ที่สำคัญแต่ละประการมีข้อสังเกตร่วมคือหลักการดีแต่การประยุกต์หลักการสู่การลงรายละเอียดในทางปฏิบัติมาปัญหามาก อาทิ นโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย P4P แต่สุดท้ายไปเป็นการเก็บแต้มแลกเงิน นโยบายเปลี่ยนลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขที่รับปากไปแล้วประกาศไปแล้วแล้วต้องมายกเลิกให้เสียความรู้สึก นโยบายการบรรจุนักเรียนทุนเป็นข้าราชการที่ดีใจทั้งประเทศ แต่สุดท้ายสร้างกฎเกณฑ์สับสนมีช่องโหว่ที่ไม่เป็นธรรมนโยบายเมดิคัลฮับที่ขายฝันก็ทำให้เกิดสภาวะสมองไหล นโยบายเขตสุขภาพที่เหมือนจะกระจายอำนาจพอทำจริงกลายเป็นการกระจุกอำนาจและวันนี้มีนโยบายมาใหม่ นโยบายการจัดสรรเงินงบประมาณหลักประกันสุขภาพแบบ MOC หรือ Minimal Operation Cost หรือจัดสรรตามค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการดำเนินการ แล้วจะตกร่องเดิมหรือไม่
เหตุที่เกิด MOC ขึ้นมาก็เพราะกระทรวงสาธารณสุขต้องการฮุบการจัดสรรเงินจาก สปสช.มาไว้ที่กระทรวงสาธารณสุข เดิมสปสช.จัดสรรเงินตามรายหัวประชากรสำหรับผู้ป่วยนอกและงบส่งเสริมป้องกัน และจัดสรรตามปริมาณงานตามจำนวนผู้ป่วยในที่ดูแลซึ่งก็ลงตัวและใช้กันมา 10 ปี โดยจะเป็นการจัดสรรตรงจาก สปสช.ลงสู่โรงพยาบาลโดยตรง ไม่ผ่านกระทรวง ไม่มีปัญหาหักหัวคิว กระทรวงสาธารณสุขสามารถแทรกแซงจัดสรรใหม่ได้เพียงเงินกัน 10% ในระดับจังหวัดเท่านั้น ดังนั้นเมื่อจะฮุบเงินจาก สปสช.มาจัดสรรเอง จึงต้องคิดระบบใหม่บางอย่างขึ้นมา ระบบนั้นคือ MOC
MOC คือวิธีการจัดสรรงบประมาณแบบใหม่ที่กระทรวงสาธารณสุขคิดขึ้นมา โดยมีสูตรคำนวณแล้วจัดสรรตามค่าใช้จ่ายขั้นต่ำในการดำเนินการของแต่ละสถานบริการ โดยทฤษฎีจะจัดให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายขั้นต่ำที่แต่ละแห่งควรใช้จ่าย อันนี้หลักการฟังดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลับมีปัญหามาก
สถานการณ์การเงินของโรงพยาบาลต่างๆ โดยรวม มีลักษณะร่วมคือ โรงพยาบาลใหญ่ในเขตเมืองมีรายได้จากกลุ่มข้าราชการ และการประกันสังคมมาก ฐานะเงินบำรุงส่วนใหญ่เป็นบวก มีเงินเหลือเก็บจำนวนมาก ส่วนโรงพยาบาลชุมชนส่วนใหญ่ พึ่งพารายรับจากงบหลักประกันสุขภาพเป็นหลัก มักจะมีฐานะเงินบำรุงค่อนข้างติดลบ หนี้สินรุงรัง แต่ปรากฏว่า MOC ของกระทรวงนั้นกลับไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้
สูตรคำนวณการจัดสรรงบโดยให้ทุกแห่งได้งบดำเนินการขั้นต่ำMOC นั้น เข้าใจว่ามีคนรู้และเข้าใจไม่กี่คน พอจัดออกมาแล้วปรากฏว่าในปีงบประมาณ 2556 ณ 31 ตุลาคม 2556 พบว่าภาพรวมของหน่วยบริการทั้งหมดจำนวน 832 แห่ง ถูกคำนวณให้ได้รับเงินเพิ่มจำนวน8,479.24 ล้านบาท โดยกลุ่มโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทั้งหมด95 แห่ง ภาพรวมได้เงินเพิ่มขึ้นจำนวน 10,488.09 ล้านบาท แต่กลุ่มโรงพยาบาลชุมชน ทั้งหมด 737 แห่ง ภาพรวมได้เงินลดลงจำนวน2,008.83 ล้านบาท และพบว่า สำหรับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ปัตตานี ยะลา นราธิวาส มีหน่วยบริการทั้งหมด 33 แห่งนั้น ภาพรวมได้เงินลดลงจำนวน 180.72 ล้านบาท
MOC ซึ่งมีหลักการทีดี เป็นหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ความเหลื่อมล้ำ กระจายงบให้เพียงสำหรับสถานบริการ กลับปรากฏว่าเมื่อมีการคำนวณด้วยสูตรที่ไม่มีใครรู้ ไม่เคยประชาพิจารณ์ระบบจัดสรรใหม่นี้ เงินจากโรงพยาบาลชุมชนที่จนอยู่แล้ว กลับถูกโยกไปให้โรงพยาบาลจังหวัดที่รวยกว่า ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลจังหวัดไม่ควรได้งบเพิ่ม แต่การเอาเงินของคนค่อมไปให้คนเตี้ยมันไม่ถูกต้อง รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณมาให้เพียงพอ ไม่ใช่ให้แพทย์ รพศ/รพท.มาทะเลาะกับแพทย์ รพช. เพราะมาแย่งก้อนเค้กเดียวกันทั้งๆ ที่ก้อนเค้กเล็กเกินไป
MOC กำลังจะกลายเป็นหายนะของโรงพยาบาลชุมชน ค้านพรบ.นิรโทษกรรมแล้วก็คงต้องหันกลับมาปัดกวาดบ้านตนเองด้วย เกาะติดตั้งคำถามและคัดค้านแนวทาง MOC ที่แปลกผิดธรรมชาติด้วยก่อนที่โรงพยาบาลชุมชนจะถูกทอนพลัง ตัดท่อน้ำเลี้ยง เพราะเป็นเด็กดื้อที่ค้านทุกเรื่อง หาก MOC ยังดินหน้า ขบวนการไล่ประดิษฐแบบที่เกิดในช่วงการค้าน P4P อาจกลับมาอีกครั้ง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556
- 58 views