ดัน พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง คุมธุรกิจนมผงละเมิดแอบโฆษณาและทำการตลาดในรูปแบบต่างๆ หวังปกป้องสิทธิเด็กไทยได้ดื่มนมแม่
นายสง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าวในงานเสวนา "ร้อยเรียงว่าด้วย CODE หลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก" ว่า ขณะนี้ปัญหาการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจนมผง ส่งผลกระทบทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดน้อยลง พบว่ามีการเข้าไปแจกตัวอย่างนมผงในโรงพยาบาลให้หญิงตั้งครรภ์และที่เพิ่งคลอด ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่านมผงมีสารอาหารเทียบเท่านมแม่ ทั้งๆ ที่มีข้อมูลยืนยันแล้วว่านมแม่มีคุณค่า มีสารอาหารมากกว่าถึง 16 เท่า ถือเป็นการละเมิดหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ดังนั้นคณะทำงานจึงเห็นถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยควรจะต้องผลักดันพระราชบัญญัติการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.... เพื่อปกป้องผลประโยชน์และสิทธิของเด็กไทยให้ได้ดื่มนมแม่มากขึ้น
นพ.ดนัย ธีวันดา ผอ.สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากรมอนามัยและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชะล่าใจว่าหลักเกณฑ์สากลจะสามารถควบคุมปัญหาการทำการตลาดนมผงใน รพ.ได้ จึงออกประกาศกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักสากลเท่านั้น ไม่ได้เชื่อมโยงกับตัวบทกฎหมาย แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการละเมิดหลักเกณฑ์มากขึ้น จึงได้เสนอวาระการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชา สุขภาพแห่งชาติ จนกระทั่งมีมติเห็นชอบจากที่ประชุมพร้อมทั้งเร่งเดินหน้าเสนอร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมจากผู้บริหาร สธ.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วยยุทธวิธีที่หลากหลาย
โดยในปี 2556 สธ.มีนโยบายส่งเสริมให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก ให้ได้ 60% ภายในปี 2558 หรือให้ทารกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก ให้ได้ 4.8 แสนคน และส่งเสริมให้มารดาให้นมแม่ต่อเนื่องแก่ลูกหลังอายุ 6 เดือน พร้อมอาหารตามวัยเป็นระยะเวลา 2 ปี หรือนานกว่านั้น เพื่อให้เด็กได้รับอาหารที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษาสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มิได้มีเจตนาหรือแสดงการใส่ร้ายป้ายสีให้บริษัทเป็นจำเลยของสังคม หรือห้ามการจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมและอาหารเสริมแก่ทารกและเด็กเล็ก หรือมุ่งรอนสิทธิการทำตลาดที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค แต่เป็นเครื่องมือที่จัดทำขึ้นสำหรับควบคุมการตลาดและการโฆษณาของบริษัทประกอบธุรกิจอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ขาดจรรยาบรรณ โดยไม่ได้ไปควบคุมการขายหรือการใช้ ผลิตภัณฑ์ แต่มุ่งกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งสถานบริการสาธารณสุขและระบบบริการสุขภาพ
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2556
- 19 views