นักวิชาการด้านโภชนาการ เผย ไขมันทรานส์อยู่ในอาหารหลายประเภท คนชอบกินแฮมเบอร์เกอร์ โดนัท ขนมกรุบกรอบ เฟรนฟรายด์ คุ้กกี้ เนยขาว เนยเทียม ครีมเทียม มาการีน เค็ก วิปครีม ของทอด มีความเสี่ยง ระบุทั่วโลกพบว่าเป็นต้นเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือด ยกย่อง สธ.ออกกฎเข้มล้อมคอกปัญหาอย่างรวดเร็ว
นายสง่า ดามาพงษ์
นายสง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ กล่าวถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย อาหารที่มีกรดไขมันทรานส์ในประเทศไทย ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ 13 ก.ค.2561 ว่า ทั่วโลกได้ทำการศึกษาวิจัยและค้นพบว่าหากปล่อยไขมันทรานส์เอาไว้จะฆ่ามวลมนุษยชาติอย่างแน่นอน เพราะเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งทำให้มนุษย์ล้มตายเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ฉะนั้นการออกประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดีและถูกต้องมากๆ
ทั้งนี้ ผู้ที่มีความรู้ด้านโภชนาการต้องสรรเสริญกับการออกประกาศฉบับดังกล่าว เนื่องจากมีประโยชน์และทำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเทียบเคียงกับสหรัฐอเมริกาจะพบว่าสหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลานานถึง 2-3 ปี จึงจะสามารถทำให้ไขมันทรานส์หมดไปจากประเทศของเขา ซึ่งก็เพิ่งทำสำเร็จไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนประเทศไทยนั้นให้มีผลภายใน 180 วัน หลังจากออกประกาศ
นายสง่า กล่าวว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 50-60 ปีก่อน มนุษย์รับประทานไขมันจากธรรมชาติ จากสัตว์ จากพืช แต่เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์ก็ได้ใช้วิทยาศาสตร์มาทำให้อาหารเปลี่ยนแปลงไปเพื่อหวังผลทางการค้าและการลงทุน โดยหนึ่งในนั้นคือไขมันทรานส์ ซึ่งเกิดจากการสังเคราะห์ขึ้นมา ไม่มีอยู่จริงในธรรมชาติ โดยมนุษย์ได้นำเอาน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวอยู่สูงไปเติมไฮโดรเจนลงไปบางส่วน ส่งผลให้น้ำมันพืชที่เป็นของเหลวกลายเป็นของแข็ง เก็บไว้ได้นาน ไม่มีกลิ่นเหม็นหืน หอม ปรุงอาหารแล้วอร่อย ที่สำคัญคือราคาถูกสุดๆ
“นี่คือสาเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมอาหารหันมาใช้ไขมันทรานส์กันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก เพราะลงทุนต่ำ ได้กำไรเยอะ แต่เมื่อใช้ไปประมาณ 50-60 ปี มนุษย์กลับพบว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ เช่น หัวใจหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ จึงมีการทำการศึกษาวิจัยและพบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากไขมันทรานส์ในอาหารทั้งหลาย จึงต้องการกำจัดให้หมดไป” นักโภชนาการรายนี้กล่าว
นายสง่า กล่าวอีกว่า ความร้ายของไขมันทรานส์คือเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะไปเพิ่มระดับของไขมันเลวในร่างกายมนุษย์ และกลับกันคือมีผลทำให้ไขมันดีให้ต่ำลงด้วย นั่นเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้น โดยไขมันทรานส์ที่มีมากในอาหารต่างๆ อาทิ แฮมเบอร์เกอร์ โดนัท ขนมกรุบกรอบ เฟรนฟรายด์ คุ้กกี้ เนยขาว เนยเทียม ครีมเทียม มาการีน เค็ก วิปครีม อาหารประเภททอด ฯลฯ นำมาสู่ความเสี่ยงด้านสุขภาพ ฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยง
“เราควรลดการกินของทอดลง และหันไปทานอาหารประเทศต้ม นึ่ง แกง ย่าง ยำ อบ ให้มากขึ้น อาจจะกินของทอดได้บ้างแต่ต้องไม่บ่อย เพราะในการกินของทอดแต่ละครั้งย่อมหมายถึงโอกาสที่จะเจอไขมันทรานส์” นายสง่า กล่าวและว่า เชื่อว่าหลังจาก 180 วันที่ประกาศกระทรวงมีผลบังคับใช้แล้วนั้น ประเทศไทยจะปลอดไขมันทรานส์ และทำให้ประชาชนลดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ลงได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีจริงๆ
สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารนั้น นายสง่า กล่าวว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการปรับตัวกันแล้ว เนื่องจากก่อนจะมีการออกประกาศ ทาง สธ.ได้หารือกับผู้ประกอบการเพื่อทำความเข้าใจและให้เตรียมพร้อมมาเป็นเวลาร่วมๆ 1 ปี ส่วนการบังคับใช้ในกรอบ 180 วันนั้น เป็นไปเพื่อให้ปรับรายละเอียดต่างๆ เช่น ฉลาก เป็นต้น ส่วนตัวมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบใดๆ และเป็นเรื่องที่น่ายินดีของประเทศไทย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดอาหารที่ห้าม ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยมีสาระสำคัญคือการห้ามผลิต นำเข้า หรือ จำหน่าย อาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ
ทั้งนี้ เนื่องจากปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
สำหรับประกาศฉบับดังกล่าวให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจาฯ เป็นต้นไป โดยอาหารที่มีกรดไขมันทรานส์ จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน อาทิ เนยขาว เนยเทียม คุ้กกี้ แครกเกอร์ ขนมขบเคี้ยว และอาหารฟาสต์ฟู้ด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สธ.ประกาศอีก 180 วัน ห้าม ผลิต นำเข้า จำหน่ายอาหารที่มี ‘กรดไขมันทรานส์’
- 109 views