สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ปูดลูกจ้าง 1.4 แสนส่อวิกฤติโรงพยาบาลไม่มีเงินจ้าง ขณะที่โรงพยาบาลยะลานำร่อง ลูกจ้างทำงานต้องยืมเงินสวัสดิการโรงพยาบาลใช้เลี้ยงครอบครัว ด้าน สธ.สรุปตัวเลขบรรจุลูกชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ เตรียมจ่ายโอทีแพทย์ รพศ./รพท.ทำงานข้ามโรงพยาบาล
นายโอสถ สุวรรณเศวต รองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาพันธ์ได้ออกแถลงการณ์ฉบับล่าสุดเพื่อเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขปัญหาสถานะของลูกจ้างเนื่องจากหลายโรงพยาบาลเริ่มมีปัญหาในการจ่ายเงินเดือนหรือค่าตอบแทนให้กับลูกจ้าง โดยแถลงการณ์ดังกล่าวนั้นมีเนื้อหาระบุว่า เนื่องด้วยความเคลื่อนไหวของสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ได้มีการขับเคลื่อนเพื่อปกป้องสิทธิของลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขมาโดยตลอด โดยเฉพาะในเรื่องค่าตอบแทนของลูกจ้างตามสิทธิที่พึงมีพึงได้
แต่ล่าสุดนั้นได้เกิดเหตุการณ์โรงพยาบาลยะลาไม่มีเงินสำหรับจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างแล้ว โดยลูกจ้างต้องทำสัญญาการยืมเงินกับ โรงพยาบาล ทำให้ลูกจ้างตกเป็นลูกหนี้ของ โรงพยาบาลทั้งที่ต้องปฏิบัติงานในโรงพยาบาล โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือเงินเดือน แต่กลายเป็นว่าลูกจ้างทำงานในโรงพยาบาลแล้วต้องยืมเงินของโรงพยาบาลมาใช้เลี้ยงชีวิตและครอบครัว และหากไม่ทำสัญญายืมเงินจะส่งผลให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างประจำเดือนตุลาคม 2556
โดยสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย เห็นว่าเหตุการณ์นี้สะท้อนถึงความล้มเหลวของกระทรวงสาธารณสุข ในการดูแลลูกจ้างในระบบงานการดูแลผู้ป่วย และยิ่งจะส่งผลให้คุณภาพของการดูแลผู้ป่วยนั้นตกต่ำลงไปอีก หากกระทรวงสาธารณสุขยังคงปล่อยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต่อไป สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย มีความจำเป็นที่จะต้องเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในเร็วๆ นี้ เพื่อปกป้องสิทธิของลูกจ้างในกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่กว่า 140,000 คน ซึ่งกระจายอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จึงขอให้ลูกจ้างที่ถูกละเมิดสิทธิที่พึงมีพึงได้ ติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อเตรียมความพร้อมในการเคลื่อนไหวอย่างพร้อมเพรียงกัน
นายโอสถ กล่าวอีกว่า การทำสัญญายืมเงินดังกล่าวนั้นลูกจ้างอาจได้รับสิทธิการยืมเพียง 80 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนเท่านั้น คือ 10,000 บาทจะยืมได้เพียง 8,000 บาท และลูกจ้างต้องทำงานมาทั้งเดือนเพื่อที่จะเป็นหนี้เงินก้อนนี้ โดยที่ไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้ ซึ่งเงินนี้เป็นเงินสวัสดิการของโรงพยาบาล มีให้ยืมแต่ไม่มีเงินจ่ายลูกจ้าง กระทรวงสาธารณสุขควรเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน นายโอสถกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าล่าสุดนั้นที่โรงพยาบาลยะลา ได้มีการปิดประกาศตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล ว่า "ด่วนที่สุด เรียน ลูกจ้างชั่วคราวโรงพยาบาลยะลา ทุกท่าน ท่านใดมีความประสงค์ยืมเงินเดือน (ค่าจ้าง) ประจำเดือนตุลาคม 2556 กรุณาเขียน "สัญญาการยืมเงิน" คนละ 1 ฉบับ พร้อมแนบสลิปค่าจ้างประจำเดือนกันยายน 2556 ส่งที่ฝ่ายการเงินชั้น 6 ภายในวันที่ 28-29 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00-16.30 น.(เท่านั้น) หากไม่มาติดต่อตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น จะไม่ได้รับค่าจ้างประจำเดือนตุลาคม 2556 ฝ่ายการเงินจะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น และหมายเหตุว่า ในวันที่ 26-27 ต.ค.56 (เสาร์-อาทิตย์นี้) ขอรับสัญญาการยืมเงินได้ที่ห้องยา ในอายุฯและห้องยาในศัลย์ฯ ฝ่ายการเงิน 25 ต.ค.56
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ (30 ตุลาคม ) จะมีการประชุมร่วมกับทางตัวแทนลูกจ้างชั่วคราวนอกสายวิชาชีพกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะมี นายโอสถ สุวรรณเศวต ในฐานะรองประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสสท.) เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อเคาะตัวเลขอัตราลูกชั่วคราวที่จะทำการบรรจุเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) โดยเบื้องต้นจะเป็นการพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณ และอัตราจ้าง เชื่อว่าจะได้ข้อสรุป ทั้งนี้ยืนยันว่าทางกระทรวงสาธารณสุขยังคงเดินหน้าบรรจุ พกส.ต่อไป
นพ.วชิระ ยังกล่าวถึงเขตบริการสุขภาพ 12 เขตทั่วประเทศ ที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ว่า ในเรื่องการจัดการเขตบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อ คือ โรงพยาบาลทุกระดับในเขตบริการสุขภาพเดียวกันสามารถแบ่งปันการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทั้งห้องผ่าตัด แพทย์ ยกตัวอย่างเช่น หากโรงพยาบาลชุมชนในเขตบริการสุขภาพที่ 1 มีห้องผ่าตัด มีอัตราการครองเตียงต่ำ แต่โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลจังหวัดจำเป็นต้องใช้ห้องผ่าตัด และมีอัตราการครองเตียงสูง ก็สามารถส่งต่อให้ผู้ป่วยมาผ่าตัดที่โรงพยาบาลชุมชนแล้วแพทย์ในโรงพยาบาลจังหวัดตามมาผ่าตัด ซึ่งกรณีนี้จะช่วยลดปัญหาการรอคิว และช่วยผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น
ที่สำคัญยังเป็นการใช้บุคลากรอย่างคุ้มค่า โดยจะมีการปรับค่าตอบแทนในส่วนเงินโอที หรืออาจมีเงินพิเศษสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ต้องทำงานข้ามโรงพยาบาล แต่ยังอยู่ในเขตบริการสุขภาพของตนเอง จะออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขขึ้นเป็นการเฉพาะขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ
"ในเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วยหลังการผ่าตัด จะต้องมีการพักฟื้น แต่ที่ผ่านมา โรงพยาบาลจังหวัดจะมีปัญหาเตียงไม่เพียงพอ จะแก้ปัญหาด้วยการส่งต่อไปพักฟื้นที่ โรงพยาบาลชุมชนแทน เพราะมีเตียงมากพอ โดยจะต้องมีค่าตอบแทนให้แก่โรงพยาบาลชุมชนในอัตราเดียวกับโรงพยาบาลจังหวัดด้วย กรณีนี้จะเป็นการจ่ายเพิ่มในส่วน On Top DRG หรือเงินในส่วนการดูแลผู้ป่วยที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) คิดเป็นการเฉพาะ จะมีการหารือกับ สปสช. อีกครั้ง"นพ.วชิระกล่าว
รองปลัดสธ. กล่าวอีกว่า โดยภาพรวมการดำเนินการเขตบริการสุขภาพมีความคืบหน้ามาก โดยเฉพาะความสามารถในการพึ่งตนเองของเขตบริการสุขภาพแต่ละพื้นที่ ทั้งการรักษาโรคซับซ้อน การแก้ปัญหาโรคเรื้อรัง มีเพียง 3 พื้นที่ที่ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพ เนื่องจากยังไม่มีศูนย์เฉพาะทาง ได้แก่ เขตบริการสุขภาพที่ 3 ที่มี โรงพยาบาลนครสวรรค์ เป็นแม่ข่ายบริการสุขภาพหลัก เขตบริการสุขภาพที่ 8 มีโรงพยาบาลอุดรธานี เป็นแม่ข่าย และเขตบริการสุขภาพที่ 12 มี โรงพยาบาลสงขลาเป็นแม่ข่าย
ซึ่งเขตบริการสุขภาพทั้ง 3 เขตยังต้องพัฒนาในเรื่องศูนย์เฉพาะทาง อาทิ โรคหัวใจ การผ่าตัดโรคหัวใจ รวมไปถึงการรักษาผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องใช้รังสีรักษา ขณะนี้ สธ.ได้เข้าไปสนับสนุน ทั้งในแง่งบประมาณการพัฒนาศูนย์เฉพาะทาง หรือการจัดส่งแพทย์ศึกษาต่อ หรืออบรมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคเฉพาะทาง เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 30 ตุลาคม 2556
- 10 views