แนวหน้า - ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ดำเนินการตรวจสอบผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดแมลงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค และผลิตภัณฑ์อุปโภคอื่นๆ หากพบว่าไม่ได้ขอขึ้นทะเบียน ไม่ได้ขออนุญาต หรือไม่ได้แจ้งข้อเท็จจริง จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษรุนแรงตามระดับความรุนแรง ของการก่อให้เกิดอันตราย โดยแบ่งวัตถุอันตรายเป็น4 ชนิด ได้แก่ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เป็นวัตถุอันตราย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น จึงกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้า แจ้งข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และจัดทำฉลากตามที่กำหนดหากไม่แจ้งข้อเท็จจริง จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับ ไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น น้ำมันตะไคร้หอมไล่ยุง กาวยึดติดแห้งเร็ว ผลิตภัณฑ์ล้างจานที่มีสาระสำคัญเป็นสารลดแรงตึงผิวชนิดปะจุลบ หรือชนิดไม่มีประจุ (ยกเว้น โนนิลฟีนอล เอทอกซิเลทหรือสารทั้งสองกลุ่มผสมกัน) เป็นต้น ส่วนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นวัตถุอันตรายที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องมาขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย และแจ้งการดำเนินการก่อนจึงจะประกอบกิจการนั้นได้ หากผู้ผลิต ผู้นำเข้า ไม่ขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้มีไว้ในครอบครองเพื่อใช้รับจ้าง ไม่แจ้งการดำเนินการ จะมีโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น ปากกาลบคำผิด

สำหรับวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการจะต้องมาขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายและขอใบอนุญาตก่อนจึงจะประกอบกิจการนั้นได้ หากผู้ผลิตและผู้นำเข้า ไม่ขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก และผู้มีไว้ในครอบครองเพื่อใช้รับจ้าง ไม่ขอใบอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น ผลิตภัณฑ์ล้างห้องน้ำที่มีสารสำคัญเป็นกรดหรือด่างต่างๆ หรือมีสารลดแรงตึงผิวที่มีประจุบวกทรายกำจัดลูกน้ำยุง ผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นกำจัดแมลง เป็นต้น และชนิดสุดท้ายคือ วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้

เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งจากคุณสมบัติของสารหรือจากลักษณะการใช้ ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปีหรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ เช่น ดีดีที พาราไทออน

ที่มา: http://www.naewna.com