นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวภายหลังการประชุมหารือเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยน เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพตามยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ ว่า กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จะดูแลในเรื่องการพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและมาตรฐานบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยปัจจุบันมีพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ประมาณ 800-1,000 ชนิด หรือประมาณร้อยละ 15.5 ของสมุนไพรที่พบในประเทศไทย ประมาณ 11,625 ชนิด โดยมีพืชสมุนไพรที่หายากและถูกคุกคามจำนวน 1,131 ชนิด
"จากการสำรวจพบว่า ขณะนี้มีพืชสมุนไพรที่กำลังขาดแคลนมีด้วยกันหลายชนิด จากหลายสาเหตุ ทั้งการปลูกพืชสมุนไพรที่บางชนิดสามารถปลูกได้ยาก เช่น กวาวเครือใช้เวลาปลูกถึง 4 ปี มะขาม ใช้เวลาปลูกถึง 8 ปี ทำให้ไม่ค่อยมีเกษตรปลูกเพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสมุนไพร แต่ใช้วิธีการเก็บจากในป่า ซึ่งก็มีการเก็บไม่ถูกวิธี เช่น มะขามป้อมที่มักพบในพื้นที่สูงภาคเหนือ ชาวบ้านใช้วิธีการโค่นต้นมะขามป้อมเพื่อเก็บลูก เพราะมะขามป้อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ทำให้พันธ์พืชถูกทำลายลง ซึ่งมะขามป้อมเป็นตัวยาที่ใช้ผสมในตำรับยากว่า 100 ตำรับ และยังเป็นตัวยาที่สำคัญในสมุนไพรตรีผลา ที่ถือเป็นยาอายุวัฒนะ ที่สหรัฐอเมริการับรองผลและนำมาใช้ช่วยบำรุงร่างกายด้วย หรือหญ้าคา ปัจจุบันต้องนำเข้าจากประเทศจีน ในไทยมีปัญหาเรื่องการใช้สารเคมีจำนวนมาก เป็นต้น จึงจำเป็นต้องให้ความรู้ประชาชนในการเก็บ ปลูกสมุนไพรอย่างถูกต้องเพื่อช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์พืช" นพ.ธวัชชัยกล่าว
นพ.ธวัชชัย กล่าวอีกว่า กรมกำลังเสนอแผนยุทธศาสตร์พัฒนาสมุนไพรไทยสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ปี 2557-2562 และจะคุ้มครองพืชสมุนไพรครบวงจร เพื่อสนับสนุนสมุนไพรสู่ตลาดโลกอย่างเป็นรูปธรรม โดยคัดเลือก 5 ชนิดที่ส่งเสริมให้เป็นผลิตภัณฑ์แชมเปี้ยน คือ กวาวเครือขาว กระชายดำ ลูกประคบ ไพลและบัวบก โดยที่ผ่านมาสร้างรายได้จำนวนมาก เช่น อาหารเสริมมูลค่า 8 หมื่นล้านบาท เครื่องสำอาง 1.4 แสนล้านบาท ยาแผนโบราณ 200 ล้านบาท
--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 28 ต.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 18 views